การเดินป่าไม่ใช่แค่กิจกรรมที่ดีต่อใจและช่วยเพิ่มความฟิตของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราทุกคนได้ใกล้ชิดและเข้าใจถึงคุณค่าของผืนป่า จนเกิดเป็นความรักและความหวงแหนธรรมชาติในที่สุด

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศล ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป ได้เชิญคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเดินป่าสำรวจ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง”

เนื่องในโอกาสที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้พัฒนาและ ส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมระบบสื่อความหมายธรรมชาติ และแอพพลิเคชั่น “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อส่งเสริมให้เส้นทางดังกล่าวเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” สำหรับผู้มาเยือนได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง จนนำไปสู่การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างเกื้อกูล และร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า นำชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติ เขาหลวง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

แม้ “กรุงชิง” อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูของคนทั่วไปมากนัก แต่ผืนป่าแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นป่าต้นน้ำ รวมถึงเป็นระบบนิเวศป่าดงดิบชื้นและดงดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ผืนป่ามีความหลากหลายของพืชพันธุ์และพันธุ์สัตว์อย่างโดดเด่น เช่น “เฟิร์นมหาสดำ” พืชที่มีเนื้อเยื่อลำเลียงยุคแรกๆ ของโลก “มดยักษ์ปักษ์ใต้” มดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในโลก

รวมถึงเป็นแหล่งรวมนกสำคัญและหายากมากกว่า 320 ชนิด เช่น กลุ่มนกพญาปากกว้าง กลุ่มนกกระเต็นป่า กลุ่มนกเงือก จนได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของนักดูนก”

“น้ำตกกรุงชิง” ซึ่งตั้งอยู่ปลายสุดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นหนึ่งในน้ำตกที่สวยงามที่สุดในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง โดยเฉพาะน้ำตกชั้นที่ 2 ที่ได้รับสมญานามว่า “หนานฝนแสนห่า” จนกระทรวงการคลังได้นำภาพความงดงามของน้ำตกชั้นนี้ไปตีพิมพ์ลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ในปี 2535

เส้นทางดังกล่าวยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

จากความน่าสนใจที่กล่าวมาทั้งหมด ได้ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมายังเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ซึ่งผู้ที่จะมาเดินป่าเส้นทางนี้อาจต้องเตรียมฟิตร่างกายสักเล็กน้อย เพราะเส้นทางมีระยะทางประมาณ 4 ก.ม. หรือไป-กลับรวมแล้ว 8 ก.ม. ช่วงต้นและปลายมีลักษณะเป็นเส้นทางชัน ทดสอบพลังขาของผู้มาเยือน

นอกจากการเตรียมพลังกายพลังใจแล้ว ยังมีคำแนะนำให้ผู้เดินป่าใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบคู่เก่ง สวมถุงเท้าครึ่งน่องแล้วตามด้วยถุงเท้ากันทาก เพราะมีโอกาสพบเจอทากได้ทั่วไปในเส้นทาง โดยเฉพาะในฤดูฝนเช่นนี้ เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาพุ่งตัว ออกเดินเท้าไปด้วยกัน

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ในเส้นทางคือ ป่าเขียวครึ้มที่มีต้นไม้แน่นขนัด ซึ่งเป็นเสน่ห์ของผืนป่าดงดิบชื้น

อีกสิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ การมองหาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ระหว่างทาง โดยเฉพาะการก้มหามดยักษ์ปักษ์ใต้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวตัวละ 2.5-3 ซ.ม. ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามขอนไม้ผุขนาดใหญ่หรือดินใต้ต้นไม้ใหญ่ รวมไปถึงการเดินมองหารู “ปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์” ซึ่งเป็นปูภูเขาชนิดใหม่ของโลกและพบครั้งแรกที่นี่

ตลอดเส้นทางการเดิน จะได้พบกับป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ 13 จุด ที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของผืนป่า เช่น ป้ายเรื่องราวของ “ต้นชิง” ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าเคยมีเป็นจำนวนมากในผืนป่าแห่งนี้ จนเป็นที่มาของชื่อกรุงชิง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ปัจจุบันพบเห็นต้นชิงได้ไม่มากนัก

ผู้เดินป่ากรุงชิงยังจะได้สัมผัสกลิ่นอายความแอดเวนเจอร์ จากเส้นทางบางส่วนที่ยังคงสภาพเป็นพื้นดิน เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียมองว่า การปรับปรุงเส้นทางให้แข็งแรงและปลอดภัย ควรทำเฉพาะจุดที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้น้อยที่สุด

การปรับปรุงเส้นทางใหม่จึงดำเนินการเฉพาะบางจุด เช่น บริเวณทางเดินปูนข้ามน้ำ ศาลาพักระหว่างทาง 3 จุด ทางเดินลงน้ำตกและราวจับ รวมถึงระเบียงถ่ายภาพและระเบียงชมน้ำตกชั้นที่ 2 เป็นต้น

ระหว่างการเดินป่า ยังพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของกรุงชิง ในฐานะอดีตฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์และมีต้นไม้สูงใหญ่มากมาย จึงทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยที่นี่แฝงตัวจากสายตาฝ่ายรัฐได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การมี “ต้นหลุมพอ” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีรากค้ำยันแบบแผ่นขนาดใหญ่ จนคนลงไปซ่อนตัวได้มิด จึงเป็นที่อำพรางตัวระหว่างการสู้รบ

นอกจากนี้ ปรากฏหลักฐานการสร้างกับดักศัตรูจากภูมิปัญญา ท้องถิ่นที่เรียกว่า “หลุมขวาก” ซึ่งเป็นการขุดหลุมลึก แล้วนำไม้มาเหลาให้เป็นแท่งแหลม เรียกว่า “ขวาก” แล้วปักไม้ลงทั่วทั้งก้นหลุม จากนั้นนำไม้ไผ่สานหยาบๆ มาคลุมปากหลุมแล้วโรยด้วยใบไม้พลางไว้อีกชั้น หากใครพลาดพลั้งตกลงหลุมก็มีโอกาสบาดเจ็บหนัก

ถ้ารอดจากหลุมขวากไปได้ จะเจอกับทางชันที่เรียกว่า “บันได 3 ขั้น” ซึ่งช่วยตัดกำลังคู่ต่อสู้ แน่นอนว่าจุดนี้เป็นจุดตัดกำลังของนักเดินป่าอย่างเราๆ เช่นกัน

หลังจากเต็มอิ่มกับเรื่องราวตลอดเส้นทาง เราก็เดินมาถึงช่วง 1 ก.ม. สุดท้าย ซึ่งเป็นเส้นทางแนวลาดและแนวดิ่งที่มีความท้าทายต่อข้อเข่า เดิมเส้นทางจุดนี้เป็นทางหินและทางดินสลับกัน ผู้เดินป่าต้องใช้สะลิงช่วยพยุงเดินเป็นบางช่วง แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นทางลงแบบบันไดคอนกรีตที่มีความแข็งแรงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

หากใครผ่านตรงนี้ไปได้ จะได้ชื่นชมกับความงามและความชุ่มฉ่ำของน้ำตกกรุงชิง ชั้นที่ 2 หรือหนานฝนแสนห่า ซึ่งอยู่ด้านล่าง เป็นรางวัลให้กับนักเดินทาง

ถ้าใครยังไม่สะดวกไปเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้วยตัวเอง สามารถซึมซับบรรยากาศและสัมผัสเรื่องราวทั้งหมดได้จากแอพพลิเคชั่น “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศา ผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา

เพียงคลิก https://thairakpa.org/krung_ching/kc/ หรือสแกน คิวอาร์โค้ดได้เลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน