โครงการ New Zealand Thailand Digital Classroom จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จากข้อจำกัดและอุปสรรคในการเดินทางทั่วโลก หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand ; ENZ) จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อช่วยสานต่อความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างครูและนักเรียนไทยกับครูและนักเรียนชาวนิวซีแลนด์ผ่านการทำงานและกิจกรรมออนไลน์ร่วมกัน ช่วยให้ความสัมพันธ์ทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยมีความต่อเนื่องและเกิดผล

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือทางการศึกษาข้ามพรมแดนระหว่างโรงเรียนในนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทยในรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ให้โอกาสนักเรียนในการพัฒนาและสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและความชื่นชมในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนการพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานร่วมกันข้ามวัฒนธรรม และการสื่อสาร และเปิดโอกาสให้ครูจากทั้งสองโรงเรียนได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของวิธีการสอน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ และปรับปรุงความสามารถทางวัฒนธรรม

โครงการนี้มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว กว่า 300 คน จากโรงเรียนต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต, โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง, โรงเรียนระยองวิทยาคม, โรงเรียนธัญบุรี และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

น.ส.ช่อทิพย์ ประมูลผล ผอ.ประจำประเทศ ไทย หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ กล่าวว่าในปี 2565 ทาง ENZ ได้จัดโครงการนี้ร่วมกับ Christchurch Educated ซึ่งเป็นหน่วยงาน พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ และกลุ่มโรงเรียนในจังหวัดระยอง โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ 5 โรงเรียน และจากจังหวัดระยอง 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง, โรงเรียนวัดป่าประดู่, โรงเรียนระยองวิทยาคม, โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา และโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร

กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยการจับคู่ระหว่างโรงเรียนนิวซีแลนด์และโรงเรียนไทย โดยครูจากสองโรงเรียนตกลงในการ คัดเลือกนักเรียนและจำนวนนักเรียนที่จะ เข้าร่วมโครงการ ช่วงวันและเวลาและ ระยะเวลาในการจัดโครงการตามความ เหมาะสม โดยครูจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ และนักเรียนจากทั้งสองประเทศจะถูกจับกลุ่มร่วมกันเพื่อทำงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย มีการทำประชุมสดทางออนไลน์ทุกสัปดาห์เพื่อปรึกษาโครงการ และนำเสนอผลการวิจัย หรือกิจกรรมเมื่อสิ้นสุดโครงการ ระยะเวลาเรียนประมาณ 5 สัปดาห์

“นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน