ปากน้ำ-แห่ฉีดเข็มกระตุ้นคึก

ประธาน‘ชวน หลีกภัย’ ไม่รอด ป่วยติดโควิด นอน โรงพยาบาลรามาฯ อีกรอบ หลังกลับจากตรังแล้วมีอาการไข้ หนาวสั่นและเสียงหาย สั่งกักตัวและห้ามผู้เกี่ยวข้องเยี่ยมทันที ด้าน สธ.เตรียมวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็ก 6 เดือนจนถึงต่ำกว่า 5 ขวบฝาชมพูแดง ฉีด 3 เข็ม ส่วนโมเดอร์นา ฉีด 2 เข็มในอัตราส่วน 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ อย.เผยร่อนหนังสือให้มาขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว ชาวปากน้ำเกือบครึ่งพันพากันต่อคิวฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแน่นห้าง หลังโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่กลับมาระบาด

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 11 ก.ค. และเพิ่งเข้าเยี่ยมนายเทพไทและนายมาโนช เสนพงศ์ นักโทษคดีทุจริตการเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช ที่เรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมรช ปรากฏว่านายชวนมีอาการไข้ หนาวสั่น เหมือนกับที่เคยติดเชื้อก่อนหน้านี้ และเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ค.มีอาการเสียงหายเพิ่มเข้ามา จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้ต้องยกเลิกภารกิจทั้งหมด

มีรายงานว่าแพทย์ได้ตรวจพบว่านายชวนน่าจะติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย จึงขอให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและกักตัว รวมถึงงดเยี่ยมทุกกรณี

ก่อนหน้านี้ นายชวนเพิ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการหนาวสั่นจากการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเข้าพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเมื่อเดือนมิ.ย.มาแล้วครั้งหนึ่ง และเพิ่งรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อหลายเดือนที่แล้ว

ต่อมานายชวนเปิดเผยว่า ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่อาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อ 11 ก.ค. รู้สึกอ่อนเพลีย หลังจากเดินทางไปเยี่ยมนายเทพไท และนายมาโนช ที่ถูกจำคุกอยู่เรือนจำนครศรีธรรมราช ซึ่งเมื่อมาถึงรัฐสภาจึงให้ เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิให้ แต่ตอนนั้นยังปกติ ต่อมาช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ตื่นขึ้นมา ยังมีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงนำเอทีเคมาตรวจด้วยตัวเอง ผลปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด จึงตรวจซ้ำอีกครั้งก็ยังขึ้น 2 ขีด จึงมั่นใจว่าน่าจะติดเชื้อ โควิด-19 จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งแพทย์ขอให้พักรักษาตัวที่ โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นจะกลับไปรักษาตัวที่บ้านพัก เชื่อว่าทันอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,679 ราย ติดเชื้อสะสม 4,548,533 ราย หายป่วย 2,115 ราย สะสม 4,494,034 ราย เสียชีวิต 23 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้น สะสม 30,882 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 23,617 ราย อยู่ร.พ.สนาม และอื่นๆ 13,420 ราย และอยู่ในร.พ. 10,197 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 788 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 342 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 12.2% ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และไม่มีผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 11 ก.ค. 2565 ฉีดได้ 25,737 โดส สะสม 140,479,700 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 57,042,498 โดส คิดเป็น 82% เข็มสอง 53,301,416 โดส คิดเป็น 76.6% และเข็มสามขึ้นไป 30,135,786 โดส คิดเป็น 43.3% ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดได้ 6,035,324 โดส คิดเป็น 47.5% และการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ขวบ เข็มแรกฉีดได้ 3,197,182 โดส คิดเป็น 62.1% และเข็มสอง 2,139,781 โดส คิดเป็น 41.5%

ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานจำนวน ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายจังหวัด พบว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,304 ราย 2.ชลบุรี 64 ราย 3.สมุทรปราการ 54 ราย 4.ภูเก็ต 23 ราย 5.เชียงใหม่ 19 ราย 6.ขอนแก่น 17 ราย 7.ฉะเชิงเทรา 12 ราย 8.ปทุมธานี 12 ราย 9.บุรีรัมย์ 11 ราย และ 10.พิจิตร 11 ราย ภาพรวมมีรายงานผู้ป่วย 50 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิดมี 27 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ชัยนาท เชียงราย ตรัง ตาก นราธิวาส น่าน ปัตตานี พะเยา พังงา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ระนอง ลำปาง เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวว่าขอให้ประชาชนที่มีแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต้องไม่ประมาท เดินทางไป-กลับ โดยสวัสดิภาพ และปลอดภัยจากโควิด-19 ส่วนการเตรียมพร้อมการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ BA.4-BA.5 นั้น ได้มีการหารือกับทีมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่าติดเชื้อง่าย แพร่เร็ว แต่อาการไม่หนักมากโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่ครบถ้วนความเสี่ยงก็จะลดลงมาก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้ไปดูสถิติการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือเป็นนัยยะสำคัญแสดงให้เห็นว่าเรายังสามารถควบคุมได้ แต่ยอมรับว่า? มีความห่วงใยในกลุ่ม 608 และเด็กนักเรียน จึงขอให้ไปฉีดวัคซีนเพื่อตัวเองและครอบครัว จะได้ไม่เสียใจกัน ส่วนที่เริ่มมีความกังวลอัตราการครองเตียงในวันนี้ขอให้ดูว่าเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐสามารถส่งต่อการรักษาได้ แต่เดิมยอมรับว่ามีการล็อกพื้นที่ แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องรับ ผู้ป่วยโรคอื่นเข้ารับการรักษาด้วย สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปและรัฐบาลเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว หากไม่เพียงพอก็สามารถที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้

ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.อนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ครั้งที่ 3 รวม 29 จังหวัด จำนวน 1,138 โครงการ กรอบวงเงินรวม 1,973 ล้านบาท มีกลุ่ม เป้าหมายเป็นเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่าคาดจะมีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มประชาชน 1,510,685 คน, เกษตรกร 478,926 คน, กลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 9,789 ราย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม, กลุ่มด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงถนน 406 เส้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย ท่อระบายน้ำ ผนังป้องกันตลิ่ง ไม่น้อยกว่า 791 แห่ง

ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้รักษาโควิดนั้น ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษา ผู้ป่วยเองได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้ผู้ป่วยโควิด จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปถึงน้อยกว่า 5 ปี อย.ได้ติดตามข้อมูลจาก ต่างประเทศ ตอนนี้มี 2 บริษัท คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งตั้งแต่ที่วัคซีนดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนใช้ในสหรัฐอเมริกา อย.ก็ได้ส่งหนังสือไปเชิญให้นำมาขึ้นทะเบียนในไทยด้วย ขณะนี้ก็รอให้เอาเอกสารมายื่นเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กนี้เป็นยาตัวเดิม แต่ทำให้เจือจางลง ไม่สามารถใช้วัคซีนที่มีในมือได้ ต้องเป็นของใหม่ที่มีการผสมน้ำเกลือใหม่ เบื้องต้นไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ขวบ จะเป็นฝาสีชมพูแดง ใช้ขนาด 1 ใน 10 ของผู้ใหญ่ที่ใช้ 0.3 ซีซี โดยเด็กเล็กจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มในเวลาที่ห่างกัน ส่วนโมเดอร์นาก็จะเป็น 6 เดือนถึง 5 ขวบ ใช้ขนาด 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ โดยจะฉีดใน 2 เข็ม

“กรมควบคุมโรคได้เปลี่ยนสัญญากับ ไฟเซอร์ในการจัดซื้อวัคซีนเด็กแล้วเป็นเด็กกลุ่มนี้ 3 ล้านโดส ทาง อย.ก็บอกให้มาขึ้นทะเบียน ตอนนี้ก็เหลือแค่เขามาขึ้นทะเบียน หากเอกสารที่นำมายื่นกับ อย. เป็นโรงงานผลิตเดิม ยาตัวเดิมก็ใช้เวลาพิจารณาไม่นานก็จะทราบผล อย่างตอนที่มายื่นขยายอายุในเด็กโตก็ใช้ไม่เกิน 2 สัปดาห์” นพ.สุรโชคกล่าว

เมื่อเวล 09.00 น.ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน ห้างโรบินสันสมุทรปราการ ถนนสุขุมวิท ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประชาชนกว่า 400 คน แห่มารอต่อแถวรับบัตรคิวฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งยอดผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตรายวันอยู่ในช่วงขาขึ้น กลับมาพุ่งต่อเนื่องอีกครั้ง หลังการระบาดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4/BA.5 บรรยากาศที่บริเวณลานหน้าห้างเกิดการชุลมุนเล็กน้อย เนื่องจากมีประชาชนมารอต่อแถวรับบัตรคิวเป็นจำนวนมาก ซึ่งพอถึงเวลาแจกบัตรคิวชาวบ้านต่างอ้างว่ามาต่อแถวก่อน และแถวที่มีเกือบ 10 แถว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทราบได้ว่าแถวไหนมาก่อน จึงเกิดการโต้เถียงกัน ซึ่งในวันนี้มีบัตรคิวแค่ 320 คิว แต่ประชาชนมาจำนวนมากทำให้คิวไม่พอ บางคนต้องกลับบ้านมือเปล่า และมีบางคนที่มารอต่อคิวตั้งแต่เช้ายืนรอจนเป็นลม เจ้าหน้าที่จึงต้องรีบนำตัวไปปฐมพยาบาล

นายสุทัศ โชติศรีลือชา อายุ 57 ปี กล่าวว่า การบริหารจัดการคิวในวันนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร มีแถวเป็น 10 แถว ก็ไม่รู้ใครมาก่อนมาหลัง ต่างคนก็บอกว่าตัวเองมาก่อน เพราะอยากฉีดกันทุกคน ตนเชื่อว่าการระบาดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีผลที่ทำให้ประชาชนตื่นตัว เพราะการระบาดรอบนี้ยอดสูงขึ้นทุกวันและยอดอาจจะสูงกว่าที่ ศบค.ประกาศ ชาวบ้านจึงตื่นตัวกันที่จะมาฉีดวัคซีน

ขณะที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าในวันนี้จะให้บริการฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาและไฟเซอร์ จะบริการฉีดวัดซีนแค่ 320 เข็มเท่านั้น โดยแบ่งเป็นรอบเช้า 220 เข็ม รอบบ่าย 100 เข็ม ซึ่งในวันเดียวกันนี้คิวเต็มแล้ว และจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-15.00 น.

จากกรณีศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” เล่าประสบการณ์การติดโควิด เมื่อวันที่ 10 เดือนมิ.ย. ล่าสุดวันเดียวกันนี้ นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงเอกสารผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ระบุว่า “ติดเชื้อทันสมัยอยู่ โอไมครอน BA.4.1”

เอกสารระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยื่นคำขอตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 ก.ค. เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.4.1 มีอาการ ไอ เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย และระดับออกซิเจนลดลงหลังเดินเป็นเวลา 6 นาที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน