ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งล่าสุด เห็นชอบกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด การจัดหากระจายยาต้านไวรัส รวมถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง ที่ไทยยังควบคุมได้

ในส่วนสถานการณ์โควิดมีสาระสำคัญ คือจะอนุญาตให้ร.พ.ต่างๆ จัดหายาต้านไวรัสเองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป ส่วนค่าใช้จ่ายรักษายังเบิกได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประชาชนยังรักษาได้ตามสิทธิ์

ที่สำคัญอีกเรื่อง คณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบให้ปลดโรคโควิดจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรค ติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

แสดงว่าโรคโควิดในประเทศไทย ไม่ติดต่ออันตรายและรุนแรงแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข อธิบายว่าการปรับปลด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคในปัจจุบัน แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น

โดยระบุว่าตอนนี้ประคองสถานการณ์ได้ แม้มี ผู้ติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง จำนวนการใช้สถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ เครื่องช่วยหายใจอยู่ในระดับควบคุมได้ ถึงเวลาสมควรลดระดับโรคลงมา

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนเริ่มเข้าใจว่าถ้าไม่รุนแรงก็รักษาตัวที่บ้านได้ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันการเตรียมยา วัคซีนมีเพียงพอ

แต่ทั้งหมดยังต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์ในการแจกจ่ายยารักษา ยังไม่ถึงขั้นซื้อยาเอง โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

จากเดิมตั้งเป้าไว้วันที่ 1 ก.ค. ปลดโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ด้วยการเข้ามาของเชื้อสายพันธุ์ย่อยทำให้การแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องยืดระยะเวลาปลดเป็นโรคประจำถิ่น

โดยวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การที่ปรับลดโควิดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นับเป็นเรื่องดีที่จะส่งผลต่อสถานการณ์โดยรวม ผ่อนคลายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและศบค.ต้องพิจารณาควบคู่ต่อไปด้วย เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ถึงเวลาต้องพิจารณายกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ยามนี้แทบไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อการควบคุมโรค แต่มีไว้เพื่อรักษาอำนาจ

เพราะผ่านมาหลายปีที่ประชาชน พลเมืองไทย อยู่กับสถานการณ์ฉุกเฉิน มานานจนเกินไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน