กทม. – นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า จากการติดตามผลดำเนินโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่แรกเริ่มโครงการ กทม.ได้ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ปีละ 200 ล้านบาท เดินรถตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.2550 ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสัญญาจึงได้ให้สิทธิบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เป็นผู้เดินรถระยะเวลาสัญญา 6 ปี เริ่มวันที่ 1 ก.ย.2560 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2566 โดยปัจจุบันมีรถโดยสารให้บริการจำนวน 25 คัน ระยะทาง 15.9 ก.ม. จำนวน 12 สถานี ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.

นายวิศณุกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาโครงการประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการเฉลี่ยก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่ที่ 17,000-19,000 เที่ยวคนต่อวัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ประมาณ 25,000-30,000 เที่ยวคนต่อวัน พอถึงช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ปริมาณผู้โดยสารก็ลดลงเฉลี่ย 6,000 เที่ยวคนต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9,000-10,000 เที่ยวคนต่อวัน ขณะที่เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย

นอกจากปัญหาการขาดทุนแล้วยังพบปัญหาเรื่องการจราจรและอุบัติเหตุ เนื่องจากแนวเส้นทางรถเมล์ บีอาร์ที ใช้ผิวจราจรร่วมกับรถยนต์ประเภทอื่นๆ มีเพียงแนวคอนกรีตกั้นแบ่งช่องทางไว้เท่านั้น พบว่ามีรถยนต์แอบเข้าไปวิ่งในช่องทางรถเมล์บีอาร์ทีจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ล่าสุดรถกระบะส่งของชนขอบทางกั้นช่องจนเกิดไฟไหม้รถทั้งหมดและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จึงสั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และบริษัท เคที ศึกษาทบทวนรายละเอียดโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งเรื่องของรูปแบบการบริหารจัดการ เพื่อให้โครงการเดินหน้า ต่อไปได้

สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการ อาทิ กทม.เดินรถเองโดยจ้างบริษัทเคที หรือ ให้สัมปทานเดินรถกับเอกชน การบริหารจัดการหนี้สิน เปลี่ยนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากใช้ก๊าซเอ็นจีวี เป็นรถไฟฟ้า (อีวี) เพื่อลดค่าใช้จ่าย การนำระบบอีทิกเก็ตมาใช้ เพื่อลดพนักงานจำหน่ายตั๋ว และประจำสถานี รวมถึงแนวทางการเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ การศึกษาไม่ต้องใช้เวลานานเพียง 3-4 เดือน น่าจะสรุปผลได้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสัญญาจ้างเดินรถจะหมดวันที่ 31 ส.ค.2566

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน