ได้ยินว่ามีสโมสรคณะราษฎร อยู่ที่ไหนหรือคะ

หนูปัด

ตอบ หนูปัด

ข้อมูลคำตอบสรุปจากบทความ “อาคารสมาคมคณะราษฎร ณ สวนสราญรมย์” โดย ณัฐพล ใจจริง เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.matichonweekly.com ดังนี้

ช่วงแรกเริ่มของการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎร ยังไม่มีที่ทำการ จึงใช้โรงเรียนกฎหมายเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาจึงย้ายมาสวนสราญรมย์ และตั้งเป็นสโมสรคณะราษฎร ปี 2477

หลวงพรมโยธี สมาชิกคณะราษฎร เล่าว่า “การจัดตั้งสมาคมการเมืองขึ้นเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อจะได้ใช้สมาคมเป็นที่เผยแพร่ให้ความเข้าใจและรักษาระบอบการปกครองที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่ คือระบอบประชาธิปไตย ในการปกครองระบอบนี้ มีหลักการอันหนึ่งที่เห็นว่าจะต้องเป็นคู่กัน คือพรรคการเมือง ตามความเข้าใจโดยทั่วๆ ไปนั้น การปกครองระบอบนี้จักต้องมีพรรคการเมืองอย่างน้อยสองพรรค คือพรรคที่เป็นรัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน โดยหลักการเช่นนี้ เมื่อสมาคมคณะราษฎรได้ตั้งขึ้นแล้ว จึงมีผู้ก่อตั้งคณะชาติขึ้น ในรูปพรรคการเมืองอีกคณะหนึ่ง”

แต่สุดท้าย กลุ่มอนุรักษนิยมตัดสินยุบสมาคมคณะราษฎร ทำให้การแข่งขันด้วยพรรคการเมืองตามหลักการประชาธิปไตยมิอาจเกิดขึ้นได้

ช่วงเกิดกบฏบวรเดช สมาชิกสมาคมยุคบุกเบิกเล่าว่า พวกเขาช่วยพิทักษ์ประชาธิปไตย โดยติดตามกองทหารไป

ต่อมาสมาคมคณะราษฎรเปลี่ยนชื่อเป็น “สโมสรคณะราษฎร”

สําหรับอาคารสมาคมคณะราษฎรซึ่งตั้งที่สวนสราญรมย์ ภูมิหลังของสวนนี้สร้างขึ้นในระบอบเก่า เป็นสวนตามแบบยุโรป เคยใช้จัดงานฤดูหนาว ภายหลังการปฏิวัติ กระทรวงวังมอบให้รัฐบาล เนื่องจากไม่มีงบประมาณบำรุง ต่อมาสมาคมจึงย้ายที่ทำการจากโรงเรียนกฎหมายมาที่นี่

ที่ทำการใหม่สร้างแบบสมัยใหม่ มี 2 ชั้น ออกแบบอย่างเรียบง่าย เน้นเส้นตรง ด้านหน้ามีสัญลักษณ์พานแว่นฟ้ารองรับรัฐธรรมนูญประดับด้วยกระจกสีเทินอยู่บนแท่นสูง ประดับอยู่กลางผนังหน้าอาคาร มีเสาค้ำยันหลังคา 8 ต้น และมีบันได 6 ขั้น สันนิษฐานว่าอาคารน่าจะสร้างขึ้นในช่วงหลังมิถุนายน 2475 สมาชิกคนหนึ่งเล่าว่า เขาเห็นอาคารที่ทำการในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

ยังมีความทรงจำของข้าราชการผู้น้อยที่เล่าว่า สมาคมคณะราษฎรเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง มีสมาชิกเป็นจำนวนหมื่น โดยเฉพาะบุคคลชั้นยอดของคณะปฏิวัติที่น่าสรรเสริญยกย่องความเป็นนักประชาธิปไตยของท่านเหล่านั้น ท่านให้ความสนิทสนมแก่บรรดาสมาชิกทุกคนอย่างเป็นกันเอง

2 ปีภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลจัดประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้มีความเข้าใจเลื่อมใสในคุณค่าของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ในงานมีกิจกรรมบันเทิง เช่น ลิเก งิ้ว จำอวด ละครร้อง หนังกลางแปลง ร้านขายของ นั่งรถไฟเล็ก มีคนเข้าชมแน่นขนัด โดยเฉพาะงานฉลองหลังปราบกบฏบวรเดช ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมหาศาล กล่าวได้ว่า ภายหลังการปฏิวัติ สวนสราญรมย์เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความหวังของสามัญชน

หลังการสิ้นอำนาจของจอมพล ป. คณะรัฐมนตรีสมัยจอมพลสฤษดิ์มีมติมอบสวนให้แก่กรุงเทพมหานครในปี 2503 พร้อมกับการเปลี่ยนวันชาติ จาก 24 มิถุนายน เป็นวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์

ต่อมา คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 มีมติทราบการรื้อย้ายสโมสรราษฎรสราญรมย์ และไม่อนุญาตให้สโมสรใช้อาคารและสถานที่สวนสราญรมย์ โดยให้กรุงเทพมหานครจ่ายค่าทดแทนแก่สโมสร ถือเป็นการยุบสลายสโมสรที่เก่าแก่ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากจุดเริ่มต้นประชาธิปไตยของไทยลงไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน