วิธีกำจัดของเสียสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มโคนม

พระมหาบุญเลิศ อินทปัญโญ รอง ผอ.วิทยาลัยสงฆ์ (วส.) พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร.วัดไร่ขิง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการขยายตัวการเลี้ยงโคนมเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำนมดิบ ซึ่งประเทศไทยเลี้ยงโคนมตามภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะใน จ.ราชบุรี พื้นที่ อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ดำเนินสะดวก อ.จอมบึง และ อ.บ้านโป่ง ทั้งนี้ มีรายงานว่า โคนม 1 ตัวถ่ายมูลวันละ 45.5 กิโลกรัม และปัสสาวะวันละ 13.4 ลิตร แม้จะมีการเก็บมูลโคนำมาตากเพื่อขายเป็นปุ๋ย แต่ยังคงมีบางส่วนตกค้างอยู่ เมื่อฉีดล้างคอกทำให้เกิดน้ำเสียไหลไปตามรางระบายออกไปสู่คลองธรรมชาติ ยิ่งสภาพคอกวัวที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัย รวมทั้งยังไม่มีวิธีการบำบัดที่ดีพอ การเลี้ยงโคนมจึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษ จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองได้ และส่งผลทำให้เกิดตะกอนในลำคลองจำนวนมาก

คณะนิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาสังคม วส.พุทธปัญญาศรี ทวารวดี จึงจัดทำโครงการต้นแบบการกำจัดของเสียจากการเลี้ยงโคนมชุมชนบ้านดงยาง หมู่ 3 ต.ดอนกระเบื้อง จ.ราชบุรี เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการของเสียจากฟาร์มโคนมขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดฟาร์มต้นแบบในการจัดการของเสียและการใช้ประโยชน์จากของเสียของฟาร์ม นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ใช้เวลาในการปฏิบัติการและพัฒนา ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค.2565

พระมหาบุญเลิศกล่าวต่อว่า จากโครงการดังกล่าวได้ลงพื้นที่วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชน ชี้แจงให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างบ่อบำบัดของเสีย ขั้นตอนวิธีการ คุณสมบัติ การเลือกใช้จุลินทรีย์และวัชพืชให้เหมาะกับของเสีย การเติมออกซิเจนให้กับน้ำเพื่อบำบัดของเสียจาก คอกสัตว์ก่อนปล่อยลงสู่คลอง โดยได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม สิ่งแรกที่ชาวบ้านคิดเป็นภาพการขุดบ่อบำบัดที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ แต่พอคณะนิสิตเข้าไปอธิบายและลงมือทำ ชาวบ้านก็ยอมรับได้ เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก กว้าง 1.50×2.50 เมตร ความสูงบ่อ 1.20 เมตร และที่สำคัญค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไม่เกิน 3,000 บาท เมื่อทำเสร็จบ่อบำบัดสามารถอยู่ได้นานนับ 10 ปี เป็นการใช้วิธีธรรมชาติบำบัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน