นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ กรณีที่กรมสรรพสามิตเตรียมยกเลิกมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 ซึ่งอาจจะทำให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก 31.94 บาท/ลิตร เป็น 37 บาท/ลิตร ว่าได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปศึกษาผลกระทบว่ามีมากน้อยแค่ไหน ส่วนผลกระทบกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ปัจจุบันกรมการค้าภายในทำโครงสร้างต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคไว้ชัดเจนแล้ว โดยมีการดูแลกำกับราคาตั้งแต่ราคาหน้าโรงงานไปจนถึงราคาขายปลีก ดูแลทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคภายใต้นโยบายวินวินโมเดล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจา นุเบกษาประกาศยกเลิกต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลที่ลิตรละ 5 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไปว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะยังมีเวลาอีกราว 2 เดือน ขอให้ใกล้เวลาอีกนิดจึงค่อยมาว่ากันอีกที ตอนนี้ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงมาค่อนข้างเยอะ ขณะที่สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีทิศทางที่ดีขึ้น สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนได้ แต่หากจะมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับงบประมาณจะต้องไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลต่อไป

รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า สกนช.อยู่ระหว่างทำแผนรับมือสถานการณ์ หากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุลดภาษีดีเซลที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยจะใช้กลไกกองทุนเข้าอุดหนุนแทนส่วนต่างภาษีที่หายไปในอัตรา 5 บาทต่อลิตร เพราะหากไม่ดำเนินการใดๆ จะทำราคาดีเซลเพิ่มขึ้นสูงอยู่ที่ 37 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร เพื่อรักษาระดับราคาไม่ให้กระทบประชาชนผู้ใช้น้ำมันและภาคขนส่งที่จะมีผลต่อราคาสินค้าปลายทาง

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กล่าวว่า คณะกรรมการ กบน.ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานได้สั่งการให้กองทุนเตรียมสรุปสมมติฐานต่างๆ เสนอทั้งรัฐบาลรักษาการและรัฐบาลใหม่ เพื่อให้ทราบทิศทางและให้นโยบายทางการเมืองว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางราคาดีเซล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน