ความกังขาต่อ “การเดินสาย” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีฐานในทาง “ความคิด”
ทั้งๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวผ่าน “สภาอุตสาหกรรม” ทั้งๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวผ่าน “สภาหอการค้าไทย”
แต่ก็ปรากฏ “ความหงุดหงิด” อย่างเห็นได้ชัด
เป็นความหงุดหงิดในลักษณะ “จงอางหวงไข่” ไม่ยอมให้ล่วงล้ำเข้าไปในพรมแดนของ “หน่วยราชการ” และโพล่งออกมาด้วยประโยคที่ว่า
“ข้าราชการของผม” อันเป็น “คนของผม”
สังคมอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อหลุดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ธรรมดาเพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “นายกรัฐมนตรี” อันเท่ากับดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “ประมุข” ฝ่าย “บริหาร”
สรุปตามสำนวนเดิมก็คือ เป็น “เจ้านาย” ของ “ข้าราชการ”
กระนั้น คำถามก็คือ เพียงเพราะเป็น “นายกรัฐมนตรี” จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสถานะอันเป็น “เจ้าของ” ข้าราชการจริงละหรือ
ถามว่า “เงินเดือน” ของข้าราชการมาจากไหน
ความเคยชินอันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สรุปเช่นนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้
เพราะรากฐานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการเป็นข้าราชการ “ทหาร” ซึ่งมีความเข้มข้นในสาย “การบังคับบัญชา” อย่างเป็นพิเศษ
“ลูกน้อง” เรียกผู้บังคับบัญชาว่า “นาย”
เมื่อใช้ปืนในมือ “ยึดอำนาจ” มาเป็นของตน ความเชื่อและความเคยชินที่สั่งสมมาอย่างยาวนานก็ย่อมติดมาแม้จะเป็น “นายกรัฐมนตรี”
จึงเห็นว่าล้วนเป็น “ข้าราชการของผม”
คำถามอันเกิดขึ้นจึงสะท้อนลักษณะปะทะในทาง “ความคิด” ที่แหลมคมเป็นลำดับ
นั่นก็คือความคิดซึ่งเห็น “คนเท่ากัน” ความคิดซึ่งเห็นว่า “ข้าราชการ” กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนจึงเป็น “ข้า” ของ “ประชาชน”
บทสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงก่อให้เกิด “คำถาม”