ธปท.จับตาเอลนีโญกระทบเศรษฐกิจภาพรวม ดันราคาอาหาร-เงินเฟ้อเพิ่มสูง ห่วงภาคเกษตรเสียหายหนัก 4-6 หมื่นล้านบาท ข้าวนาปีเสียหายหนักสุด
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความเสี่ยงภัยแล้ง มีผลต่อราคาอาหาร เพราะวัตถุดิบข้าวสูง เงินเฟ้อจะสูง เป็นเรื่องที่ธปท. ต้องจับตา ซึ่งเอลนีโญในระยะสั้นได้คำนึงถึงไปแล้ว และจะรุนแรง 3-4 ปี จะผลกระทบมากกว่าในอดีต เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วง ที่เศรษฐกิจไทยต้องพึงพิงอาหารสดราคาจะเพิ่มขึ้น ราคาข้าวจะเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มด้านผลกระทบเป็นสิ่งที่ติดตามอยู่
“สถานการณ์ภัยแล้งเอลนีโญเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาใน ช่วงปลายปีนี้ แต่ผลกระทบที่ดูระยะยาว พยายามติดตามต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลต่อค่าครองชีพในเรื่องผลต่อราคาอาหารสด รวมถึงต้นทุนต่างๆ เช่น ราคาอาหารสัตว์ นอกจากผัก ผลไม้แล้วยังรวมไปถึง เนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.จับตามอง”
น.ส.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาด การเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) กล่าวว่า ครึ่งหลังปี 2566 ภาคเกษตรไทยจะประสบปัญหาเอลนีโญ สร้างความเสียหายในภาคเกษตร 40,414 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่จะ เกิดขึ้นปีหน้า โดยข้าวนาปรังปีการผลิต 67 จะได้รับความเสียหายสูงสุด เพราะเป็นพืชหน้าแล้งที่ต้องอาศัยน้ำกักเก็บจากฝนปีนี้ แต่ถ้ารุนแรงกว่าคาดเอลนีโญจะสร้างความเสียหายสูงกว่า 60,000 ล้านบาทได้
แบ่งเป็นความเสียหายข้าวนาปี 66/67 ซึ่งต้องการน้ำมาก มักปลูกในที่ลุ่ม เสียหาย 7,493 ล้านบาท, ข้าวนาปรังปี 67 ปลูกในหน้าแล้ง ต้องใช้น้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำ เสียหาย 18,463 ล้านบาท, อ้อย ปี 66/67 ต้องการน้ำมาก มักปลูกในที่ดอน คาดเสียหาย 12,554 ล้านบาท และมันสำปะหลังปี 66/67 ต้องการน้ำน้อย มักปลูกในพื้นที่ดอน คาดจะเสียหาย 1,903 ล้านบาท
ทั้งนี้ส่งผลให้รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอลงค่อนข้างมาก เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดจะปรับตัวลดลง โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ดีและการขยายพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียนปรับสูงขึ้น, โรคระบาดในสุกรคลี่คลาย คาดว่าจะทำให้ผลผลิตสุกรเพิ่มขึ้น, ปริมาณฝนที่มากเกินไปในบางพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง และเอลนีโญ จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีลดลง
ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเพิ่ม คือ สต๊อกข้าวโลกมีแนวโน้มลดลงและนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ส่งผลให้ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความต้องการบริโภคทุเรียนเพิ่มขึ้นจากจีน ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาลด คือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ส่งผลให้ราคายางพารามีแนวโน้มปรับลดลง เป็นต้น