การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เป็นเรื่องที่นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติกำลังเฝ้าติดตามอย่างใจจดใจจ่อ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการลงทุน
แต่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยันว่า จากการได้ไปโรดโชว์พูดคุยกับ นักลงทุนหลายประเทศ พบว่า ยังให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทยมาก และปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor : EEC)
และเมื่อวันที่ 26-29 มิ.ย. 2566 ผู้ว่ากนอ. พร้อมทีมงาน นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย คณะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมอมตะ, นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ, นิคมฯ เอเชียสุวรรณภูมิ, นิคมฯ แพรกษา, นิคมฯ โรจนะแหลมฉบัง, นิคมฯ เอส อ่างทอง, นิคมฯ เอเชีย คลีน ชลบุรี, นิคมฯ เอ็กโก ระยอง, นิคมฯ เกตเวย์ ซิตี้ และนิคมฯ อุบลราชธานี
พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ)
จากปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวนทั้งสิ้น 1,951 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 3.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 หรือ มีสัดส่วน 25% จากมูลค่าลงทุนทั้งหมด 12 ล้านล้านบาท
ซึ่งกว่า 70% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง, อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ, อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่, อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์
และการมาโรดโชว์ที่เมืองนาโกย่า ครั้งนี้ ถือเป็นการทิ้งทวนในภูมิภาคเอเชียของกนอ. ในการโรดโชว์ประจำปีงบประมาณ 2566 นี้
แต่นาโกย่า นับว่าเป็นเมืองเริ่มต้นของกนอ. ที่ดึงนักลงทุนญี่ปุ่นไปลงทุนที่ไทย
เพราะด้วยศักยภาพที่เป็นเมืองฐานการผลิตที่สำคัญ เป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักอันดับ 3 ของประเทศ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงโดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมสายการผลิตเหล็ก ยานยนต์ และเครื่องจักร
ขณะเดียวกันเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของญี่ปุ่น มีท่าเรือ ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด การเดินทางมีทั้งสนามบิน และรถไฟ ดังนั้นมีศักยภาพเต็มเปี่ยมที่จะดึงฐานการผลิตไปยังนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น
“การโรดโชว์ครั้งนี้ จะแสดงถึงศักยภาพความพร้อมรับการลงทุนของนิคมอุตสาห กรรมไทย เพราะวันนี้เมืองนาโกย่า เป็นผู้นำระดับประเทศในสายการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม วิศวกรรมหุ่นยนต์ และยานอวกาศ มีท่าเรือที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด และเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า ซูซูกิ และฮอนด้า มอเตอร์ ถือเป็นกำลังหลักทางการเงินของญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง” นายวีริศกล่าว
โดยมีเป้าหมายชักจูงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ
และการโรดโชว์ครั้งนี้ มีกิจกรรมสำคัญคือ การออกบูธของนิคมอุตสาหกรรมไทย และการจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในหัวข้อ “Manufacturing Game Changers! It’s Time for Thailand” โดยบรรยายหัวข้อ “An Update of Investments in Thailand’s Industrial Estates” นำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย
โดยมีนางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว กล่าวเปิดงานสัมมนา จากนั้น ผู้ว่าการกนอ. กล่าวถึงความเป็นมาของกนอ. ไปจนถึงแผนงาน วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม
รวมทั้งนำเสนอข้อมูลพื้นที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก พลังงานทดแทน แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนยานยนต์
พร้อมกันนี้ ยังมีกิจกรรมการสัมมนาชักจูงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม การนำเสนอสิทธิประโยชน์ของประเทศไทย และการแชร์ประสบการณ์การลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น กิจกรรมการออกบูธนิทรรศการของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม การดำเนินการสื่อสารด้านการตลาด และแนวทางกระตุ้นการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น
และผลจากการโรดโชว์ครั้งนี้ มีนักลงทุนจากเมืองนาโกย่า สนใจเข้าไปขยายฐานการผลิตในไทย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก พลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ ซึ่งรัฐบาลไทย มีนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ชัดเจน ทำให้นักลงทุนมีความสนใจลงทุนเข้าไปลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอีอีซี
ซึ่งทางกนอ. ได้ยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลใหม่ ยังเดินหน้าโครงการอีอีซีอย่าง ต่อเนื่อง และทางกนอ. พร้อมผลักดันการลงทุนตามแผนงานอย่างเต็มที่
“ตั้งเป้าหมายจะดึงดูดการลงทุนมูลค่า 3,700 ล้านบาท และมียอดขาย/เช่าพื้นที่ใน นิคมฯ ได้ประมาณ 200 ไร่ พร้อมกันนี้ กนอ. ได้เน้นย้ำความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเกี่ยวกับโครงการอีอีซี แม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายจะยังเดินหน้าต่อ รวมถึงมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV 3.5) และจะเร่งผลักดัน 4 โปรเจ็กต์ใหญ่ โดยเฉพาะท่าเรืออุตสาห กรรมมาบตาพุดเฟส 3 ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2567” นายวีริศกล่าวยืนยัน
พร้อมกันนี้ ทางผู้ว่าการกนอ. ยังกล่าวถึงความต้องการของ นักลงทุนญี่ปุ่น จากการสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร คือ เรื่องความต้องการพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับมาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (ซีแบม) นั้น ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ทางประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกนอ. มีแผนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ หรือโซลาร์โฟตติ้ง จากอ่างเก็บน้ำของกนอ. แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเชื่อมระบบการจ่ายไฟฟ้าอยู่
ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ และกนอ. ยังมีแผนพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากโซลาร์เซลล์ พลังงานจากลม ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากนอกนิคมฯ ประมาณ 600 เมกกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ.
นอกจากนี้ คณะของกนอ. ยังมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยม ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในจังหวัดไอจิ 4 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะ โดยมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 2, โครงการ 3 และโครงการ 5 อีกด้วย
“การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคนั้น ต้องยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความ โดดเด่น ควบคู่ไปกับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น การจัดโรดโชว์ครั้งนี้ ก็เพื่อโชว์ศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการลงทุน รวมทั้งนำเสนอมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งภาษี และไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อน และหลังการลงทุน และการสร้างระบบนิเวศในการลงทุนที่มุ่งสร้างสมาร์ต & ความยั่งยืน (Smart & Sustainability) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตด้วยกัน” ผู้ว่าการกนอ.กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับก่อนหน้านี้ในปีงบประมาณ 2566 กนอ. ได้เดินทางไปโรดโชว์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เมืองโตเกียวและโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปิดจ๊อบที่นาโกย่า เมืองสุดท้ายของปี ก่อนจะพิจารณาไปยังประเทศอื่นๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา ที่มีความสนใจการลงทุนในไทยมากขึ้น
ในส่วนภาพรวมของกนอ. ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 68 นิคมอุตสาหกรรม (ในกำกับดูแลของกนอ. และร่วมดำเนินงานกับ ภาคเอกชน) 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม มีพื้นที่ทั้งหมด 190,150 ไร่, โรงงาน 4,963 โรงงาน, เงินลงทุนสะสม 8.30 ล้านล้านบาท และ มีแรงงานในนิคมฯ 917,414 คน
ส่วนยอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมฯ ของปีงบประมาณ 2566 นี้ กนอ. ตั้งเป้าหมายไว้ 4,000 ไร่ ซึ่งนายวีริศเชื่อมั่นว่า จากการออกไปโรดโชว์ที่เมืองนาโกย่าส่งท้ายปีงบประมาณนี้
จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ไม่ยาก
ปัทมา ทองสิน