รอยัล ฟิลิปส์ ผู้นำเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก เผยผลสำรวจรายงาน Future Health Index (FHI) 2023 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) หัวข้อ “Taking Healthcare Everywhere” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 กลุ่มตัวอย่างเกือบ 3,000 คน

ครอบคลุมผู้บริหารแถวหน้าวงการเฮลท์แคร์และบุคลากรการแพทย์รุ่นใหม่จาก 14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ พบว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีประสิทธิ ภาพมากขึ้นในระหว่างต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

แครอไลน์ คลาร์ก ประธานและรองประธานบริหาร ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ระบบสาธารณสุขให้บริการจากส่วนกลางหรือ โรงพยาบาลเท่านั้น แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่าผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชีย-แปซิฟิกส่วนมากกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อรับมือปัญหาด้านบุคลากรและต้นทุน

ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะเราเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่จะกระจายบริการด้านสาธารณสุขออกไป ด้วยการนำ Smart and Digital Health Technology รวมถึงข้อมูลมาใช้

เพื่อเชื่อมต่อบริการสาธารณสุขให้เข้าใกล้ ผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ว่าเป็นที่บ้านหรือในชุมชนที่ ผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ ให้เข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา

โมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ นอกจากขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและปรับปรุงผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วย

รายงาน FHI ยังเผยให้เห็นว่าการนำโมเดลแบบใหม่มาใช้จะช่วยให้ผู้บริหารแถวหน้าวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น

ร้อยละ 66 ของผู้บริหาร และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่บอกว่ามีความพร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยโมเดลดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ ขณะที่ร้อยละ 63 เชื่อว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยดำเนินการไปได้พร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ผลสำรวจยังเผยถึงผลกระทบเชิงบวกต่อกำลังใจและการรักษาบุคลากรไว้ในองค์กร โดยบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่หวังว่าโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่จะช่วยให้มีสมดุลในการทำงาน (work-life balance) ที่ดีขึ้นร้อยละ 58 และสร้างความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นร้อยละ 56 มากกว่าโมเดลแบบเดิมๆ

ร้อยละ 44 ของกลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคนี้ยังเห็นว่า โมเดลแบบใหม่มีประโยชน์ด้านการยอมรับและปฏิบัติตามของผู้ป่วยในการรักษาร้อยละ 36 เห็นว่าช่วยให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น และร้อยละ 35 เห็นว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ระยะเวลารอการรักษาที่สั้นลง แพทย์ได้ตรวจและพบปะผู้ป่วยมากขึ้น

ความสำเร็จในการประยุกต์ใช้โมเดลใหม่ด้วยการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลสารสนเทศ การดูแลรักษาผู้ป่วย และการฝึกอบรมผ่านทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้รับแรงหนุนจากการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีสุขภาพดิจิตอลและการขยายตัวของระบบออนไลน์

ร้อยละ 48 ของผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ภูมิภาคนี้ลงทุนในบันทึกดิจิตอลด้านสุขภาพมากที่สุด และร้อยละ 74 มีแผนจะลงทุนด้าน AI ในอีก 3 ปีข้างหน้า นำโดยสิงคโปร์ ร้อยละ 84 อินโดนีเซีย ร้อยละ 76 และออสเตรเลีย ร้อยละ 63

ด้านขยายการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่านระบบออนไลน์ไม่ได้มีเพียงเฉพาะสำหรับการตรวจวินิจฉัย ร้อยละ 51 ของผู้บริหารระบุว่า สถานบริการด้านสาธารณสุขให้บริการดูแลผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยวิกฤตผ่านระบบออนไลน์แล้ว และร้อยละ 42 จะให้บริการเช่นนั้นในอนาคต

ร้อยละ 62 ให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่บ้านแล้วผ่านทั้งระบบออนไลน์และการพบปะตัวบุคคล และร้อยละ 31 วางแผนทำเช่นนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

สําหรับประเทศไทย หน่วยบริการด้านสุขภาพพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospitals แล้วกว่าร้อยละ 45 โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดกลยุทธ์เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล

การนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาประยุกต์ใช้กว่าครึ่งของผู้บริหาร เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะในการอ่านและแปลข้อมูล (29%) ความสมัครใจของบุคลากรที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (29%) ทั้งสองเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการนำโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่มาใช้

ขณะที่ร้อยละ 44 ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ยอมรับว่าต้องการฝึกอบรมเพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยการตรวจวินิจฉัย (41%) และเพื่อช่วยลดภาระงาน (40%)

การขาดแคลนบุคลากรกำลังเป็นปัญหาสำคัญของวงการสาธารณสุขทั่วโลก

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข เผยอัตราแพทย์ในไทย 0.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุอัตราที่เหมาะสมคือ แพทย์ 2.8 คนต่อประชากร 1,000 คน

แผนกำลังคนตามการจัดระบบบริการโดยเขตสุขภาพยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์กว่า 38,174 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ 6,115 ตำแหน่ง และพยาบาล 28,174 ตำแหน่ง

จากรายงานพบว่าผู้บริหารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2 ใน 3 (เทียบได้กับร้อยละ 56 ของโลก) ใช้หรือมีแผนจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสุขภาพเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

โดยเฉพาะผู้บริหารในอินโดนีเซีย (77%) และสิงคโปร์ (75%) ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดย 3 อันดับแรกของเทคโนโลยีที่มีผลสูงสุดได้แก่ เทคโนโลยีที่ใช้งานบนคลาวด์ เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลจากที่ใดก็ได้ (44%)

เทคโนโลยีโซลูชันส์ที่เชื่อมต่อภายนอก โรงพยาบาลได้ (37%) และเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล อาทิ PACS ประวัติด้านสุขภาพ และกระบวนการจัดการผู้ป่วยอัตโนมัติ (35%)

การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิตอลและโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ยังช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้

บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ระบุ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ (39%) และโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ที่เชื่อมต่อการดูแลที่ แตกต่างกัน (33%) เป็นปัจจัยสำคัญใน การเลือกสถานที่ทำงาน

ร้อยละ 33 มองว่า แช็ตบ็อต (Chat bots) ช่วยตอบคำถามพื้นฐานทางการแพทย์ให้ ผู้ป่วยได้ ร้อยละ 28 เห็นว่าการถ่ายโอนข้อมูลด้านสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ และร้อยละ 26 เห็นถึงความสามารถในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้จากทุกที่

ทั้งหมดนี้บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เห็นเหมือนกันว่า เป็นเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ที่จะมาช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานของพวกตนได้

“ระบบนิเวศสุขภาพที่ชาญฉลาดและยั่งยืน มาพร้อมโซลูชันส์ดิจิตอลที่กำหนดนิยามใหม่ในด้านประสบการณ์ของการดูแลผู้ป่วย ที่เน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และด้านการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต

เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับพันธมิตรด้านสุขภาพของเรา ในการริเริ่มการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ของทศวรรษหน้า นอกจากการนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะสมและการฝึกอบรมที่ทันสมัย ซึ่งจำเป็นต่อการปลดล็อกศักยภาพของการดูแลผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว

เรายังตระหนักดีถึงการนำเสนอโซลูชันส์ การดำเนินงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความยั่งยืนแห่งอนาคตในวงการสุขภาพ” แครอไลน์ คลาร์ก กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวสดไอที
ภาพ – รอยัล ฟิลิปส์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน