กทม. – นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าแนวทางบริหารจัดการนโยบายหมวดเดินทางดี ว่า 1.ด้าน บีอาร์ที หรือรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit) เดือน ก.ย. ถึง พ.ย.66 กทม.ยังเปิดบริการฟรีด้วยรถบัสพลังงานก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas for Vehicles : NGV) จากนั้น เดือน ธ.ค.2566 ถึง ก.ย.2567 จะปรับรูปแบบเก็บค่าโดยสารเพื่อลดค่าบริหารจัดการ หากยังหาไม่ได้ กทม.จะให้บริการประชาชนฟรีต่อไป และเดือน ต.ค.2567 ถึง ปี 2571 จะปรับรูปแบบสถานี ขยายเส้นทางเชื่อม MRT เพิ่มความถี่บริการ และเปลี่ยนรถบัสเป็นระบบพลังงานไฟฟ้า

2.ด้านบริการรถ BMA Feeder ปี 2566 กทม.ให้บริการ 4 เส้นทางคือ สถานีสนามเป้า-กทม.ดินแดง ผู้ใช้บริการ 635 คน/วัน ลาดกระบัง-ร่มเกล้า 868 คน/วัน บางขุนนนท์-4 ตลาดน้ำ 1,353 คน/วัน สิรินธร-โรงเรียนเขตดุสิต 265 คน/วัน ส่วนในปี 2567 มีแผนเพิ่ม 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเส้นทาง ได้แก่ สถานีลาดพร้าว 83- ซอยมหาดไทยบดินทรเดชา พหลโยธิน 48 และลาดปลาเค้า-เทพารักษ์ สุทธิสาร-ลาดพร้าว 80 และ 64 ลาดพร้าว-รัชโยธินหรือหมอชิต 2 สถานีไฟฉาย-ศิริราช ทุ่งสองห้อง-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

3.ด้านศาลารอรถเมล์ ปี 2566 มีแผนสร้างทั้งหมด 31 หลัง ประกอบด้วย ขนาดกลาง 7 หลัง ขนาดใหญ่ 10 หลัง อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง รวมถึง ศาลาทรงไทย 14 หลัง ปัจจุบันมีผู้รับจ้างแล้ว ส่วนปี 2567 มีแผนสร้าง 89 หลัง ประกอบด้วย ขนาดกลาง 64 หลัง ขนาดใหญ่ 25 หลัง รวมปี 2566-2567 กทม.มีแผนสร้างศาลารอรถเมล์ทั้งหมด 120 หลัง 4.ด้านไฟส่องสว่าง ปี 2566 ถนนหลักเปลี่ยนหลอดไฟ HPS แล้ว 31,594 ดวง เปลี่ยนเป็นชนิดแอลอีดี แล้ว 10,874 ดวง ในปี 2567 มีแผนเปลี่ยนเป็นไฟแอลอีดี เพิ่ม 10,000 ดวง ส่วนในซอย ปี 2566 เปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดีแล้ว 20,190 ดวง ปี 2567 มีแผนเพิ่มอีก 20,000 ดวง ส่วนทางริมคลอง พบไฟดับ 3,286 ดวง ซ่อมแล้ว 2,386 ดวง มีแผนขอติดตั้งปี 2568 เพิ่ม 4,488 ดวง

4.ด้านทางข้าม ปี 2566 ได้ทำแล้ว คือ ทาสีทางข้ามสีขาว 500 แห่ง สีแดง 210 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟทางข้ามปุ่มกด 52 แห่ง กล้องวงจรปิดจราจร 20 แห่ง ไฟกะพริบ 50 แห่ง ในปี 2567-2569 มีแผนทำ คือ ทาสีทางข้ามสีขาว 1,500 แห่ง สีแดง 350 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟทางข้ามปุ่มกด 30 แห่ง กล้องวงจรปิดจราจร 100 แห่ง ไฟกะพริบ 300 แห่ง รวมถึง การปรับแบบทางเท้ามาตรฐานใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมทางตัดผ่านเรียบเสมอทางเท้า โดยปี 2566 ทำแล้ว 129 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการมากกว่า 87 กิโลเมตร ในปี 2567 มีเป้าหมายทำเพิ่ม 157 กิโลเมตร ใน 35 เส้นทาง

5.การปรับปรุงทางเลียบคลอง ปัจจุบันคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงหมู่บ้านแกรนด์คาแนล เขตดอนเมือง ระยะทาง 580 เมตร เสร็จแล้ว 100% ช่วงที่ 2 จากเขตดุสิตถึงสรงประภา ระยะทาง 480 เมตร คืบหน้าร้อยละ 7.48 ช่วงที่ 3 จากสรงประภาถึงแจ้งวัฒนะ ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร คืบหน้าร้อยละ 12.15 ช่วงที่ 4 จากแจ้งวัฒนะถึงวัดเสมียนนารี ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร คืบหน้า ร้อยละ 26.25 ส่วนคลองโอ่งอ่างและบางลำพู ช่วงสะพานดำรงสถิตถึงป้อมมหากาฬ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร คืบหน้าร้อยละ 77

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างเพิ่มอีกหลายรายการ ได้แก่ ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารถนนสาทรใต้ ช่วงเอ็มอาร์ที ลุมพินี ทางออก 2 ถึงทางเดินลอยฟ้าช่องนนทรี อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2567 และถนนอโศกมนตรี ช่วง เอ็มอาร์ที เพชรบุรี ทางออก 2 ถึงท่าเรืออโศก คาดว่าจะของบประมาณปี 2568 ส่วนที่สวนจตุจักร ฝั่งลานจอดรถ ออกแบบเสร็จแล้ว คาดว่าจะเริ่มสร้างภายในเดือนต.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน