ผ่านจากวิกฤตอุทกภัยในหลายจังหวัด รัฐบาลต้องหันมากระตือรือร้นเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เวียนซ้ำกลับมาสร้างปัญหามลพิษทางอากาศให้ประชาชนในหลายพื้นที่ประเทศไทย ในช่วงเวลาปลายปีต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจติดตามความพร้อมปฏิบัติงานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวัง
พร้อมสั่งเร่งรับมือสถานการณ์ในทันที ยกระดับการสื่อสารการแจ้งเตือนไปยังประชาชน ที่แบ่งเป็น 4 ระดับตามความรุนแรงและผลกระทบต่อสุขภาพ
หลังพบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานแล้วในบางจุดของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
หน่วยงานหลักอย่างกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในปี 2566 ค่อนข้างรุนแรงมาก จากปัจจัยการเผาพื้นที่การเกษตร ไฟป่า การก่อสร้าง การคมนาคม รวมทั้งฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ปี 2567 เนื่องจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ถึงเดือนเมษายน 67 สภาวะ เอลนีโญจะมีกำลังสูงขึ้นในแถบฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน สภาวะแห้งแล้งส่งผลให้การ เผาไหม้ชีวมวลจุดติดได้ง่าย จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์อาจรุนแรงมากกว่าปี 2566
วงจรฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทุกปี พื้นที่ภาคเหนือจะมีช่วงวิกฤตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน หากเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี
แต่ครั้งนี้มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นในการควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากมีการประกาศใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ใหม่
สิ่งที่สังคมควรรับรู้ร่วมกันคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ใหม่ โดยค่าพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปรับลดจากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ค่าเฉลี่ย 1 ปี ปรับลดจาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าค่ามาตรฐานประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ค่ามาตรฐานใหม่เข้มข้นกว่าเดิม จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใหม่ให้ได้
นโยบายต้องมีความชัดเจนครอบคลุม รวมถึงมาตรการควบคุมป้องกันที่ต้องเข้มงวดจริงจังมากขึ้น