ทำเนียบรัฐบาล – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (เพิ่มเติม) สำหรับผู้ต้องขัง ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 10 รายการ เพื่อดูแลผู้ต้องขังให้เข้าถึงบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเน้นให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นายคารมกล่าวต่อว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขัง 10 รายการ จะครอบคลุมการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศประมาณ 270,000 คน แบ่งเป็น รายการบริการใหม่ 1 รายการ คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดย ผู้ต้องขังจะได้รับบริการระหว่างต้องโทษ 1 ครั้ง และอีก 9 รายการ เป็นบริการเดิมโดยได้เพิ่มจำนวนครั้งของรับบริการเพื่อป้องกัน การแพร่กระจายโรค ประกอบด้วย

บริการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก, บริการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส, บริการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี, บริการคัดกรองโรคไม่ติดต่อและปัญหาสุขภาพอื่นๆ, บริการด้านส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การคัดกรองโรคซึมเศร้า บริการให้คำปรึกษา/เตรียมความพร้อมผู้ต้องขังป่วยจิตเวชก่อนปล่อย, บริการด้านทันตกรรมป้องกันและการเคลือบฟลูออไรด์, บริการคัดกรองโรคโควิด-19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ, บริการคัดกรองโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร, และการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การคัดกรองและตรวจโรคผิวหนัง ตรวจวัดสายตาเบื้องต้น

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง จากมติบอร์ด สปสช. ที่จะเริ่มในปีงบประมาณ 2567 จะทำให้ผู้ต้องขังได้รับบริการเพิ่มเติมตามความจำเป็น รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นายคารมกล่าวถึงการตรวจสอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีผู้นำถุงยางอนามัยที่สปสช. แจกฟรี ไปขายบนแพล็ตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่ประชาชนมาแสวงผลประโยชน์โดยมิชอบและมีความผิดตามกฎหมาย จึงขอเตือนให้หยุดการกระทำ

ส่วนประชาชนผู้ที่ต้องการใช้ถุงยางอนามัย ขอรับได้ฟรี โดยลงทะเบียนใช้สิทธิ์ในเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” ในแอพฯ เป๋าตัง แล้วเลือกหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพื่อไปรับถุงยางอนามัยได้ ทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม ร้านยา หน่วยบริการ ปฐมภูมิ คลินิกการพยาบาล รพ.สต. หรือในกรณีที่ไม่มีสมาร์ตโฟนก็นำบัตรประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อรับยาคุมกำเนิด ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองได้เช่นกัน โดยสามารถรับได้ครั้งละ 10 ชิ้นต่อคนต่อสัปดาห์ และไม่เกิน 52 ครั้งต่อคนต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน