กกพ.ประกาศค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มขึ้น 69 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย เอกชนหวั่นขึ้นค่าจ้างกดดันราคาสินค้า-เงินเฟ้อ

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติ เห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บ ในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้น 69 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2566 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย

“การพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 นี้ กกพ.คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฟผ. โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ.มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น”

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจโพลส.อ.ท. ครั้งที่ 35 ในเดือนพ.ย.2566 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. 66.7% มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ส่วนผู้ประกอบการ 63.6% กังวลว่าการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป จะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน