กทม. – นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เตรียมจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตั้งแต่วันที่ 8-22 ธ.ค. นี้ โดยจะปิดประกาศร่างฝังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

แผนที่ แผนผัง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน รายการประกอบแผนผัง และรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา สำนักงานขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สวนสาธารณะ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ดังนี้ webportal.bangkok.go.th/cpud : สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร plan4bangkok.com : โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

นายไทวุฒิกล่าวต่อว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) มีกำหนด ดังนี้ วันที่ 23 ธ.ค. เวลา 09.00-12.00 น.

ครั้งที่ 1 กลุ่มกรุงเทพตะวันออกที่ศาลาประชาคมเมืองมีน ถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี ครั้งที่ 2 กลุ่มกรุงเทพกลาง ที่ห้องบางกอก ชั้น 2 อาคารเอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง ครั้งที่ 3 กลุ่มกรุงธนใต้ ที่สำนักงานเขตบางบอน

วันที่ 24 ธ.ค. เวลา 09.00-12.00 น. ครั้งที่ 4 กลุ่มกรุงเทพเหนือ ที่โรงเรียนวัดหลักสี่เขต หลักสี่ ครั้งที่ 5 กลุ่มกรุงธนเหนือ ที่สำนักงานเขตบางพลัด ครั้งที่ 6 กลุ่มกรุงเทพใต้ ที่สำนักงานเขตคลองเตย และครั้งที่ 7 ประชุมใหญ่ในวันที่ 6 ม.ค.67 ที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

นายไทวุฒิกล่าวว่า กทม.ได้ประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 และได้ปรับปรุงเรื่อยมา ซึ่งผังเมืองปรับปรุง ครั้งที่ 3 ฉบับที่ใช้อยู่ ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2556 เป็นเวลา 10 ปีแล้ว พบว่ากรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของเมือง การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์

สำหรับการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 ยังกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมแก่ภาคเอกชนและประชาชน เช่น มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) และมาตรการวางผังโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน