สมรภูมิค้าปลีกในปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป กลับมาคึกคักอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนเปิดโครงการใหม่ๆ ของบรรดาห้างค้าปลีกที่มีให้เห็นในทุกไตรมาส

และช่วงส่งท้ายปียิ่งทวีความคึกไปอีก เมื่อมีห้าง ระดับบิ๊กโปรเจ็กต์เปิดใหม่พร้อมๆ กัน และจะเป็นแรงส่งให้ผู้ประกอบการค้าปลีกลุยลงทุนเปิดโครงการใหม่ๆ เขย่าศึกค้าปลีกให้เดือดขึ้นในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง

เพิ่มเติมด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาวของรัฐบาล ที่จะออกมาตั้งแต่ต้นปีใหม่ กับมาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 สู่เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่คาดว่าจะเริ่มใช้เดือนพ.ค. 2567 ซึ่งจะมาช่วยปลุกอารมณ์และกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลบวกต่อภาคค้าปลีก

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โครงการ E-Receipt ที่จะมากระตุ้นการ จับจ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ โดยให้วงเงิน 50,000 บาท และหวังว่ารัฐบาลจะเร่งอนุมัติและเพิ่มระยะเวลาใช้จ่ายให้มากกว่าที่ผ่านมา เพื่อช่วยกระตุ้นโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเงื่อนไขและรายละเอียด เห็นว่าเป็นนโยบายที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ในระยะสั้น ทั้งยังช่วยในการอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินอย่างมีศักยภาพ”

นอกจากนี้ขอเสนอแนะให้ขยับเวลาประกาศใช้ในเดือนเม.ย. แทนพ.ค. จะเป็นการสร้างอิมแพ็กต์ให้โครงการนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา และยังส่งผลดีต่อ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคค้าปลีกและบริการ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ จะได้รับอานิสงส์โดยตรง รวมถึงร้านค้าย่อยในชุมชนต่างๆ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะนับได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ด้านผู้ประกอบการ “เซ็นทรัล” น.ส.วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องรอดูรายละเอียดของมาตรการให้ชัดเจนก่อน และพร้อมที่วางแผนกับภาครัฐ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวได้ประสิทธิผลตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ในขณะที่แผนการลงทุนยังเดินหน้าตามแผน 5 ปี (ปี 2566-2570) ที่วางไว้ โดยเฉลี่ยลงทุนปีละ 25,000-35,000 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับปี 2567 จะเปิด 3 ศูนย์การค้าใหม่ ประกอบด้วย เซ็นทรัล นครสวรรค์ ภายใต้งบลงทุน 4,500 ล้านบาท เปิดไตรมาส 1 ต่อด้วยเซ็นทรัล นครปฐม ลงทุน 3,800 ล้านบาท เปิดไตรมาส 2 และ เซ็นทรัล กระบี่ ลงทุน 2,300 ล้านบาท พร้อมเปิดไตรมาส 4

ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มดุสิตธานี กับโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นมิกซ์ยูส พื้นที่รวม 440,000 ตร.ม. บนที่ดิน 23 ไร่ มุมถนนสีลม-พระราม 4 ภายใต้งบลงทุน 46,000 ล้านบาท จะทยอยเปิดปี 2567 ในส่วนของโรงแรม Dusit Thani Bangkok

ด้านกลุ่ม “เดอะมอลล์” น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “มาตรการ E-Receipt จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และผู้บริโภคกลุ่มบนที่อยู่ในฐานภาษีจับจ่ายเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มเพดานเป็น 5 หมื่นบาทจะยิ่งได้ผลดีสำหรับคนที่มีฐานภาษีอยู่แล้ว คิดว่าคุ้มกับการใช้ในช่วงเวลานี้ เพราะด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกว่ามั่นใจและคุ้มค่ามากขึ้นในการจับจ่าย พร้อมกับการมีเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น”

ดังนั้นเดอะมอลล์จึงทุ่มงบประมาณรวม 50,000 ล้านบาท สร้างย่านการค้า กับ 3 โครงการ 3 มุมเมือง เริ่มด้วย เปิด ดิ เอ็มสเฟียร์ ใจกลางย่านสุขุมวิท ภายใต้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ต่อด้วยการปรับโฉมครั้งใหญ่ของเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ และบางแค ให้เป็นเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 2 สาขา 30,000 ล้านบาท โดยบางกะปิเสร็จเรียบร้อยเปิดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ส่วนบางแค พร้อมเปิดเต็มรูปแบบในไตรมาส 1 ของปี 2567

และยังจะลุยปรับโฉมเดอะมอลล์ รามคำแหง ในปี 2567 รวมทั้งเร่งเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ “Bangkok Mall” เป็นโครงการระดับเวิลด์คลาส ตั้งอยู่ในย่านบางนา บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้อีกหนึ่งแลนด์มาร์กของไทย พร้อมเปิดในปี 2567

น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ด้วย วิสัยทัศน์และเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ประกอบกับยุทธศาสตร์ของเดอะมอลล์ในการปักหมุดย่านการค้าสำคัญ และวางเป้าหมายพัฒนาย่านการค้า ไม่ใช่เพียงพัฒนาโครงการศูนย์การค้า ให้สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวโดยภาพรวม”

สำหรับกลุ่มบริษัท “สยาม พิวรรธน์” นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวว่า พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยตลอดปี 2567 เตรียมจัดกิจกรรม ป๊อป-อัพ สโตร์ และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ รวมทั้งเตรียมขยายพื้นที่ลักชัวรี่แบรนด์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวให้เป็น ไอคอนนิก สโตร์ ที่ใหญ่ที่สุดในสยามพารากอนและไอคอนสยาม พร้อมประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีในการลงทุน

ฝั่งค่าย “บิ๊กซี” นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินมาตรการคืนภาษี e-Refund และเงิน ดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่จะออกมาในปี 2567 ถ้าสามารถทำควบคู่กันไปด้วย เชื่อว่าจะเป็นการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

โดยนโยบายเงินดิจิทัล ประเมินว่าจะร่วมกระตุ้น ภาคเศรษฐกิจไทย จากการส่งเงินเข้าสู่ระบบทำให้เกิดการหมุนของเงินหลายรอบ เมื่อภาคเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

“ภาคเศรษฐกิจอยู่ที่ความเชื่อมั่น หากคนไทยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ทุกคนจะกลับมาจับจ่ายใช้สอย”

และบิ๊กซี พร้อมปรับระบบการบริหารจัดการภายในรองรับกับโครงการนี้ รวมทั้งวางแผนลงทุน 10,000 ล้านบาท ทั้งปรับปรุงสาขาเดิม ลงทุนไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี มินิ บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส และลงทุนในประเทศ

ในเมื่อห้างค้าปลีกเด้งรับ และพร้อมลุยลงทุนต่อ

หวังแล้วว่าเศรษฐกิจไทยกลับมาสดใสในศักราชใหม่นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน