กระทรวงพาณิชย์เผย 11 เดือนแรกปีนี้ต่างชาติหอบเงินเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย 9.8 หมื่นล้านบาท ช่วยจ้างงานคนไทยกว่า 6 พันคน โดยญี่ปุ่นยังครองแชมป์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 612 ราย วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 98,288 ล้านบาท สามารถจ้างงานคนไทย 6,086 คน
ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 129 ราย เงินลงทุน 30,106 ล้านบาท 2. สิงคโปร์ 95 ราย เงินลงทุน 22,219 ล้านบาท 3.สหรัฐอเมริกา 95 ราย เงินลงทุน 4,235 ล้านบาท 4.จีน 56 ราย เงินลงทุน 15,818 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 26 ราย เงินลงทุน 5,813 ล้านบาท
“ช่วง 11 เดือนปีนี้ต่างด้าวเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 82 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 แต่มูลค่าการลงทุนลดลง 14,169 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,078 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565”
สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม, บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า, บริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบระบบ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก และบริการ เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการพัฒนาแพลตฟอร์ม
นางอรมนกล่าวถึงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 11 เดือน ปี 2566 ว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในอีอีซีจำนวน 120 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 15 โดยมีมูลค่าการลงทุน 19,531 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของเงินลงทุนทั้งหมด
โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 43 ราย ลงทุน 6,853 ล้านบาท, จีน 28 ราย ลงทุน 3,927 ล้านบาท, ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 43 ราย ลงทุน 4,705 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจที่ลงทุน อาทิ บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง และ Network Device, บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, บริการจัดหา ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น