วิเคราะห์การเมือง : อำนาจ ต่อรอง อำนาจ พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์

วิเคราะห์การเมือง – ไม่ว่าข่าวความพยายามจะต่อสายเพื่อดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นเครือข่าย 1 ของแผนสืบทอดอำนาจโดยคสช.จะ “ปล่อย” ออกมาจากไหน

แต่ข่าวนี้สัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษกับ “พลังประชารัฐ”

ต้องยอมรับว่ามิได้เป็นข่าวใหม่ เพราะว่าความพยายามนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่นานมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อ นายถาวร เสนเนียม พร้อมแกนนำกปปส.หวนกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์

เป้าหมายก็เพื่อต้องการเปลี่ยน “หัวหน้าพรรค”

แม้จะประสบกับกระแสต้านภายในพรรคกระทั่งต้องกบดานเงียบสนิทระยะหนึ่ง แต่เมื่อมีการเปิดให้ชิงหัวหน้าพรรคตะกอนอันนอนก้นก็เผยแสดงออกมา

แม้เมื่อต้องพ่ายแพ้ แต่ก็ยังไม่ยอมจำนน

หากต้องการสืบทอดอำนาจย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นพวกให้ได้ หากไม่ได้นั่นหมายถึงทางตัน

ความคึกคักที่เห็นใน “พลังประชารัฐ” เสมอเป็นเพียง “ของปลอม”

แต่ความพยายามที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สดสวยเท่าใดนัก ไม่ว่าในตอนแรกหรือล่าสุดในกรณีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ตาม

เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์สาย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีแนวของตนเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตระหนักว่าหากยอมจำนนในแบบที่เห็นผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย อำนาจการต่อรองก็อ่อนด้อยลงไปด้วย

จึงจำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง จุดขายในลักษณะเฉพาะ

ประเด็นที่คสช.ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างสูงก็คือ ทุกพรรคการเมืองมิได้เป็น “ของตาย” เหมือนพรรคพลังประชารัฐ

ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย

การสร้างพลังผ่านมวลชนอย่างที่เห็นผ่านบุรีรัมย์มิได้หมายถึงการสยบยอม แม้กระทั่งการสร้างพลังผ่านมวลชนอย่างที่เห็นผ่านชัยภูมิก็มิได้หมายถึงการสยบยอม

ตรงกันข้าม เป็นการสร้างพลังเพื่อ “ต่อรอง”

ก็อย่างที่มีการปล่อยออกมาระหว่างการต่อสายไปยังพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ คือ การยินยอมให้อีกฝ่ายได้กระทรวงเกรด A ไป

กระนั้น ทุกการต่อรองก็มิได้หมายความว่า “ของตาย”

ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริง ยังเป็นปัจจัยจากผลการเลือกตั้งที่จะปรากฏในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

หากพรรคพลังประชารัฐชนะก็ยุติ

แต่หากผลปรากฏออกมาว่าแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐก็ยังตกเป็นรองอำนาจการต่อรองก็ย่อมจะลดน้อยถอยลงไปด้วย

“อำนาจ” จะเปลี่ยนจาก “คสช.” ไปอยู่ฝ่ายอื่นทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน