ต่อสู้ 2 แนวทาง อำนาจรัฐ กับ ประชาชน สุดท้าย อยู่ที่ใคร

ต่อสู้ 2 แนวทางความพยายามของพรรคพลังประชารัฐในการที่จะเบียดแทรกเข้าไปแย่งยึดพื้นที่เลือกตั้งในกทม.เป็นความพยายามที่สามารถเข้าใจได้

เข้าใจได้ว่าทำไมจึงคิดจะปักธง

ไม่เพียงเพราะว่า นายสกลธี ภัททิยกุล จะเคยเป็นส..ของ กทม. หากในปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

บทบาทของ นายสกลธี ภัททิยกุล ย่อมมีผลต่อพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งกว่านั้น หากผนึกตัวรวมพลังเข้ากับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เข้าไปอีก ยิ่งมากด้วยความแข็งแกร่ง

โอกาสในกทม.จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

แต่คำถามที่พรรคพลังประชารัฐมิอาจปฏิเสธได้ก็คือ พื้นที่กทม.เป็นพื้นที่ในความยึดครองและแบ่งปันอำนาจระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

พรรคประชาธิปัตย์มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนเด่นเป็นสง่า

พรรคเพื่อไทยไม่เพียงแต่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ หากแต่ยังมี ร...เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธานทีมปราศรัย

กลายเป็น 2 แรงแข็งขันอยู่เบื้องหน้า

การประสบกับกระแสกระหน่ำฟาดจากพรรคเพื่อไทย ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ยังจะต้องเผชิญกับกระแสกระหน่ำจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาอีก

ถามว่าโอกาสของพรรคพลังประชารัฐจะมีได้ละหรือ

หากพิจารณาจากโครงสร้างทางการเมือง การปกครองของคสช.ประสานเข้ากับรัฐบาลและกทม.ก็จะเป็นภาพจำลองของประเทศไทยได้

นี่ย่อมเป็นความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐ

เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคของคสช. จึงย่อมได้รับพลานุภาพจากคสช. จากรัฐบาลและโดยเฉพาะจาก กทม.ที่มาบริหารภายใต้อำนาจของมาตรา 44

นี่คือทางสะดวกให้กับพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มเปี่ยม

แต่คำถามก็คือ กลไกอย่างนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้ หรือ กลไกอย่างนี้พรรคเพื่อไทยไม่เคยได้สัมผัสและ รับทราบหรือ

ที่คิดว่าจะสะดวกอาจกลายเป็นไม่สะดวก ราบรื่นก็ได้

กระนั้น พรรคพลังประชารัฐก็ได้เปรียบที่เป็นส่วนหนึ่งภายในกลไก ของอำนาจรัฐ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยได้เปรียบที่กุมหัวใจ ของประชาชน

การปะทะระหว่างอำนาจรัฐกับหัวใจประชาชนจึงแหลมคม

นี่ไม่เพียงแต่ในพื้นที่กทม. เท่านั้น หากแต่ทอดตามองไปในขอบเขตทั่วประเทศ ไม่ว่ากลาง เหนือ ใต้ ตก ออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนเป็นเช่นนี้

คำถามอยู่ที่คำตอบสุดท้ายว่าประชาชนจะเลือกใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน