เงื่อนปม แตกต่าง ถวายสัตย์ ปฏิญาณตน กับ พระราชกำหนด

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เงื่อนปม แตกต่าง ถวายสัตย์ ปฏิญาณตน กับ พระราชกำหนด – ปรากฏการณ์แหกมติของส.ส.พรรคอนาคตใหม่ในกรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณที่กำลังอึกทึกครึกโครมอยู่บนเส้นทางสายข่าวขณะนี้เป็นเรื่องที่มิได้อยู่เหนือความคาดคิด

เพราะได้สะท้อนออกมาก่อนหน้านี้แล้วในกรณี “พระราชกำหนด”

ส.ส.คนเดียวกันนี้ไม่เพียงแต่เดินสวนทางมติพรรค ในกรณี “พระราชกำหนด” หากแต่ยังเน้นย้ำซ้ำอีกในกรณี “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ”

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ เท่ากับเป็นการบอกเหตุ

และจากกรณี “พระราชกำหนด” ก็เป็นอุบัติการณ์ในทางการเมืองอันควรศึกษาอย่างยิ่ง หากนำเอาไปเทียบกับกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”

ต้องยอมรับว่า มติและความเห็นภายใน 7 พรรคฝ่ายค้านต่อกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” กับ กรณี “พระราชกำหนด” มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่อิงอยู่กับหลัก “รัฐธรรมนูญ” เหมือนกัน

เพราะว่ากรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และขยายออกไปยังรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

7 พรรคฝ่ายค้านร่วมเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน เข้มข้น

แต่พอแตะเข้าไปยังกรณี “พระราชกำหนด” มติของพรรคอนาคตใหม่ไม่เพียงแต่มีปัญหาภายใน หากแต่ยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับมติของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

ไม่ว่ากรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ไม่ว่ากรณี “พระราชกำหนด” พรรคอนาคตใหม่ยืนอยู่บนหลักการการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง “อำนาจบริหาร” กับ “อำนาจนิติบัญญัติ” แน่วแน่

เคยพูดในกรณี “ถวายสัตย์” อย่างไรในเรื่อง “พระราชกำหนด” ก็อย่างนั้น

ในความเป็นจริง การที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นชอบกับ “พระราชกำหนด” ก็อิงอยู่กับข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญครบถ้วน

และเสนอแนะว่าน่าจะตราออกมาเป็น “พระราชบัญญัติ”

ข้อดีของพระราชบัญญัติก็คือ ส.ส.สามารถแสดงบทบาทในการร่วมพิจารณาและอภิปรายแสดงความเห็นได้อย่างรอบด้าน ขณะที่เมื่อเป็นพระราชกำหนดแตกต่างออกไป

น่าแปลกที่สังคมไม่ได้มีการนำเอากรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” กับกรณี “พระราชกำหนด” มาเปรียบเทียบและพิจารณาอย่างจริงจัง

ว่าเหตุใด 6 พรรคฝ่ายค้านร่วมจึงเห็นต่าง

เพราะหากนำเอาเหตุผลและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติในลักษณะคานอำนาจระหว่างกันและกันมาพิจารณา

บางทีอาจจะเข้าใจพรรคอนาคตใหม่ อาจจะเข้าใจ 6 พรรคฝ่ายค้านร่วมยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน