สังคม ทวงถาม

บรรทัดฐาน รับผิดชอบ

กรณี “จ่าคลั่ง”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สังคม ทวงถาม – นับวันข้อทวงถึง “ความรับผิดชอบ” จากกองทัพบกและโดยเฉพาะจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ผบ.ทบ.จะยิ่งดังกระหึ่ม

อาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่น่าจะเป็นจริง

เหลือเชื่อเพราะความรู้สึกที่ครอบคลุมเหนือสังคมไทย คือ ความรู้สึกที่ยอมรับต่ออำนาจและอิทธิพลของทหาร อำนาจอิทธิพลของกองทัพ

การทวงถาม “ความรับผิดชอบ” จึงอาจฟังดูแปลก

แต่ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งระหว่างการแถลงของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ คือ การแสดงความรู้สึกเสียใจจนถึงกับหลั่งน้ำตา แต่มิได้ยืนยันในเรื่องของ “ความรับผิดชอบ”

ถามว่าเหตุใดในเมื่อการลั่นกระสุนของ จ.ส.อ.คลั่งถือว่าสิ้นสุดของการเป็นทหารตามบทสรุปของ

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แล้วอย่างสิ้นเชิง

เหตุใดจะต้องให้ “กองทัพ” ต้องรับผิดชอบ

เพราะว่าพฤติกรรมของ จ.ส.อ.คลั่งนับแต่วินาทีนั้นเป็นต้นไปล้วนเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” และอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ “กองทัพ”

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

อาวุธที่ จ.ส.อ.ได้มาเป็นของส่วนตัวจริงหรือ กระสุนที่ จ.ส.อ.ปล้นมาเป็นของส่วนตัวจริงหรือ รถที่จ.ส.อ.ชิงมาเป็นของส่วนตัวจริงหรือ

สังคมกำลังต้องการ “บรรทัดฐาน” เหมือนกับเมื่อหลายปีก่อนที่พนักงานการรถไฟก่อกรณีข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่งแล้วมีข้อเสนอให้ผู้ว่าการการรถไฟฯ ต้องรับผิดชอบ

นั่นคือ กรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน

นั่นก็คือ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้ลงมือข่มขืนและชำเรา ก็อีหรอบเดียวกันกับกรณีจ.ส.อ.คลั่งลั่นไกปืนสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน

นี่มิได้เป็นการกระทำของ “ผบ.ทบ.” อย่างแน่นอน

ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีส่วนในการปลดผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีบรรทัดฐานอย่างไรกับผบ.ทบ.

คําว่า “บรรทัดฐาน” ต่างหากคือเป้าหมายอย่างแท้จริงของสังคม เพื่อที่จะได้ไม่มีเหตุการณ์ ในลักษณาการเดียวกันนี้เกิดขึ้นอย่างชนิดไม่มีใครรับผิดชอบ

ออกมาหลั่งน้ำตาแล้วก็พอ

แต่ถามว่าสาเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้กรณีบานปลายจากกรณีเงินกู้ในกองทัพกลายเป็นการสังหารโหดกลางเมือง

มีแต่ “น้ำตา” แต่ไม่มี “คำตอบ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน