เมื่อ Flash Mob คืนชีพ – หากมองจำนวนคนที่เข้าร่วมชุมนุมบนถนนราชดำเนินอาจไม่มากนัก
ไม่มากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่มากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ไม่มากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

แต่ถ้าเทียบกับการชุมนุมก่อนหน้านี้ก็ถือว่า “มาก”
เพราะว่าการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคมก็ระดมคนได้เป็น“เรือนสิบ” เพราะว่าการเคลื่อนไหวในเดือนมิถุนายนก็ระดมคนเข้าร่วมได้เป็น“เรือนร้อย”
แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม มีคนมามากกว่า 2,000

จํานวน 2,000 กว่าอาจถือว่ายอดเยี่ยมยิ่งสำหรับ“ม็อบมุ้งมิ้ง”เยาวชนปลดแอก
แต่ที่สะท้อนปริมาณมากกว่านั้น กลับเป็นจำนวนคนที่ติด #เยาวชนปลดแอก จนติดเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นั่นก็คือ จำนวนมากกว่า 10 ล้าน
คนมองโลกในแง่ร้ายบางคนอาจประเมินว่าเป็นการปั่นและสร้างกระแสจากกลุ่มการเมืองบางคณะบางพรรค แต่อย่าลืมว่าการปั่นกระแสที่มีจำนวนกว่า 10 ล้านเชียวนะ
ถือว่าไม่ธรรมดา ถือว่าไม่ปรกติ

ผลสะเทือนที่มากกว่านั้นคือลักษณะของการแพร่ระบาดในทางการเมือง
ความคึกคักจากบนถนนราชดำเนินยังไม่จางจากหายไป เช้าวันต่อมาเวลาเดียวกันได้เกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันขึ้นอย่างฉับพลันทันใด

นั่นก็คือ ที่เชียงใหม่ นั่นก็คือที่อุบลราชธานี
เป็นการนัดหมายทางโซเชี่ยลมีเดียในลักษณะกะทันหัน เป็นการชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกันกับการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน
ออกไป ออกไป กึกก้องกังวาน

รูปของการเคลื่อนไหวเด่นชัดว่าคือความต่อเนื่องของ Flash Mob
หลังจากต้องหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด หลังจากต้องปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศของสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยืดเยื้อและยาวนาน
นี่คือการหวนคืนมาของ Flash Mob ด้วยคุณภาพใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน