คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ผลพวง การเมือง สลาย ชุมนุม – มีความเด่นชัดยิ่งว่าการเคลื่อนไหวในวันที่ 17 ตุลาคมมีรากฐานมาจากอะไร

ไม่ต้องเป็นนักการทหารระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือระดับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือระดับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็สามารถตอบได้

ว่าเป็นผลจากการประกาศสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ขั้นร้ายแรง

สังคมได้เห็นการเข้าสลายการชุมนุมในตอนรุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคม และที่ส่งผลสะเทือนอย่างสูงก็ จากการสลายการชุมนุมในตอนค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม

เป็นการกระทำต่อเด็กๆ และนักศึกษา “มือเปล่า”

 

สถานการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมเป็นเรื่อง “น่ากลัว”

น่ากลัวไม่เพียงแต่เพราะ 1 ภาพของหน่วยคอม มานโดในเครื่องแบบดำครบถ้วนสมบูรณ์ย่างสามขุมเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่

1 เป็นการเข้าสลายการชุมนุมในตอน “กลางคืน”

1 แม้จะยังไม่ได้ใช้กระสุน ไม่ว่ากระสุนปลอม ไม่ว่ากระสุนจริง แต่การสาดน้ำผสมสีและสารเคมีด้วยกำลังและความรุนแรงนั้นน่าสยดสยองอย่างยิ่ง

จากนั้น ก็ตามด้วยการไล่จับเด็กๆ ซึ่งหนีกระเจิดกระเจิงด้วยความกลัว

 

ถามว่าแล้วรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งประสบความสำเร็จในการสลายการชุมนุมหรือไม่

คำตอบในเชิงกายภาพมีความเด่นชัด แม้บรรดาเด็กๆ ส่วนหนึ่งจะไม่กลัว พร้อมเดินหน้าเข้า เผชิญ แต่ส่วนใหญ่หวาดกลัวอย่างชนิดหนียะย่าย พ่ายจะแจ

แต่ในทางความคิด ในทางจิตใจกลับตรงกันข้าม

ผลก็คือ ในวันที่ 17 ตุลาคม พวกเขาต่างออกมาร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นจุดใดๆ ในกทม. ไม่ว่าจะเป็นในส่วนภูมิภาค ในขอบเขตเกือบทั่วประเทศ

เสียงตะโกน “ออกไป ออกไป” จึงดังกึกก้อง

 

กลยุทธ์การชุมนุมในลักษณะ “ดาวกระจาย” กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมือง

หากผนวกตัวรวมปริมาณเฉพาะที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านทางโลกโซเชี่ยลก็มิได้เป็นจำนวนหมื่น หากแต่เป็นจำนวนแสน และหลายแสน

เป็นหลายแสนที่โกรธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน