คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
หน่อ รัฐประหาร – ความรู้สึกและความเห็นต่อข่าว “รัฐประหาร” น่าศึกษา น่าทำความเข้าใจ
โดยรวมๆ แล้วจะปรากฏ 2 ความรู้สึกและความเห็นต่อข่าว “รัฐประหาร” ตามมาเสมอ 1 คิดจากมุมของตัวเอง รู้สึกจากมุมของตัวเองอย่าง ด้านเดียว
1 คิดและรู้สึกจากมุมของฝ่ายที่อยากทำ “รัฐประหาร”
ไม่ว่าสถานการณ์รัฐประหาร 2519 ไม่ว่าสถานการณ์รัฐประหาร 2520 ไม่ว่าสถานการณ์รัฐประหาร 2534 ไม่ว่าสถานการณ์รัฐประหาร 2549 หรือ 2557
มักจะหนีไม่พ้นไปจาก 2 ความเห็นอันแตกต่างกันนี้
ความรู้สึกหนึ่งไม่ต้องการ “รัฐประหาร” ไม่อยากเห็นการ “รัฐประหาร” เกิดขึ้น
ความโน้มเอียงก็คือ มักจะคิดแทนกระบวนการรัฐประหารว่าหากเกิดหรือรัฐประหารมีขึ้นจะนำผลเสียอย่างไรบ้างมาให้กับประเทศชาติและบ้านเมือง
เป็นการตัดไม้ข่มนามเพื่อ “ต้าน” รัฐประหาร
เป็นการคิดเองเออเองแล้วก็นำไปสู่บทสรุปที่ว่า พวกเขาไม่กล้าทำหรอก พวกเขาไม่ควรทำอย่างเด็ดขาดเนื่องจากวิธีการรัฐประหารล้าหลังและดึกดำบรรพ์ อย่างยิ่ง
แต่ในที่สุด “รัฐประหาร” ก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ประสบการณ์รัฐประหารนั่นเองนำไปสู่บทสรุป “รัฐประหาร” จะต้องเกิด
สถานการณ์ในปัจจุบันอันมีจุดเริ่มจากการชุมนุมเคลื่อนไหว ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม ได้พัฒนายกระดับอย่างใหญ่โต
โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ความร้อนแรงของสถานการณ์ได้นำไปสู่การคาดหมายและตามมาด้วยเสียงเรียกร้องดังถี่ยิบมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าจะต้องตามมาด้วย “รัฐประหาร” อย่างไม่ต้องสงสัย
ความเชื่อนี้มีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่งในทางการเมือง
ที่รัฐประหารยังจะมีอยู่เนื่องจากอำนาจในการทำรัฐประหารยังอยู่ในมือ “ทหาร”
เมื่อรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในภาวะอับตัน อย่างน้อยคนที่แวดล้อมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยากใช้วิธีการรัฐประหาร มาแก้ปัญหา
แต่จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาใหม่หรือไม่ ก็ยังต้องรอดู