คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ปฏิบัติการ“อุ้ม” – ไม่ว่าการโยน “ระเบิด” เข้าใส่ผู้ชุมนุม ไม่ว่าการเริ่มปฏิบัติการ “อุ้ม” ล้วนเป็น “สัญญาณ”

เป็นสัญญาณอันบ่งบอกและสะท้อนให้เห็นมาตรการที่เข้มข้นและรุนแรง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความหงุดหงิด ความไม่พอใจต่อกระบวนการเคลื่อนไหว

ที่คิดว่า “แผ่ว” ที่คิดว่า “ฝ่อ” กลับไม่แผ่ว กลับไม่ฝ่อ

จำเป็นต้องงัดเอากลยุทธ์ที่ไต่ระดับความรุนแรงและเหี้ยมเกรียมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาเป็นเครื่องมือ เพื่อสกัดขัดขวาง เพื่อสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึง

เข้าทำนอง“รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”ในทางการเมือง

จะเข้าใจต่อปฏิบัติการโยน “ระเบิด” ต้องมองย้อนกลับไปยัง “อดีต” ของการต่อสู้

มิใช่อดีตในยุค “กระทิงแดง” แรงฤทธิ์ ที่การขว้างระเบิดขวดเป็นอาวุธเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในยุคหลังสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2561

หากเป็นอดีตที่มีการปะทะและยิงกันหน้าไทยพาณิชย์ รัชโยธิน

หากเป็นอดีตเมื่อมีการสกัดขัดขวางความพยายามในการขายกุ้งของกลุ่มวีโว่ที่ท้องสนามหลวงและบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม บนถนนราชดำเนิน

แล้วลงเอยด้วยการโยน “ระเบิด” ลึกลับเข้าไป

ไม่ว่าการยิงกันที่หน้าไทยพาณิชย์ รัชโยธิน ไม่ว่าการโยนระเบิดบนถนนราชดำเนิน

มีเป้าหมายอย่างเดียวกันกับการโยนระเบิดเข้าใส่การเคลื่อนไหวในสามย่าน มิตรทาวน์ และตามมาด้วยปฏิบัติการลึกลับ คร่ากุมตัวไม่ว่าจะเป็นการ์ดราษฎร ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มวีโว่

เป้าหมายเพื่อสร้างความสับสน เป้าหมายเพื่อก่อความหวาดกลัว

ยังดำเนินไปตามแผนที่กำหนดตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ตามการประโคมโหมแห่ผ่านปฏิบัติการไอโอด้านการข่าวที่กระพือในเรื่องม็อบแผ่ว ม็อบฝ่อและจะหมดบทบาท

เพียงแต่ “ราษฎร” จะไม่ยอมให้เป็นไปตาม “แผน” เท่านั้น

การตอบโต้ของ “ราษฎร” มิได้สลับซับซ้อนอะไร นั่นก็เห็นได้จากการเปิดช่องทาง “ราษฎร” ขึ้น

เป็นการเปิดขึ้นนอกเหนือจากช่องทาง “เยาวชนปลดแอก” เดิม เป็นการเกิดขึ้นนอกเหนือจากช่องทาง “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เดิม

และการตั้ง รุ้ง ปภัสยา ให้ดำรงอยู่ในฐานะ “โฆษกราษฎร”อย่างเป็นทางการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน