คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทบาท รัฐสภา – ญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์มีความสำคัญ

สำคัญไม่เพียงเพราะว่า นี่คือการพุ่งปลายหอกเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นครั้งที่ 2

หากเป็นวาระที่การเมืองเข้าสู่ระดับทะลุเพดาน

คู่เปรียบเทียบที่สำคัญมิได้อยู่ที่บทบาทของรัฐบาล ตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชนนอกรัฐสภาต่างหากที่มีความแหลมคมเป็นอย่างสูง

เป็นความแหลมคมอันมากด้วยพลานุภาพทางการเมือง

อย่าคิดว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชน ประชาชนในปี 2563 ไม่มีผลสะเทือน

ปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 อาจเริ่มขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยจำนวนไม่ถึง “เรือนพัน” แต่จะปฏิเสธการขยายตัวเติบใหญ่ได้หรือไม่

เพราะในเดือนตุลาคมก็ยกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563”

ก่อการเคลื่อนไหวไม่เพียงแต่จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล หากแต่ยังจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลด้วยความคึกคัก

การเคลื่อนไหวนี้เองที่กลายเป็นคำถามต่อ “นักการเมือง”

คําถามอันเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2564 ก็คือ รัฐสภาจะตอบโจทย์อย่างไร

กรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีของการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ สามารถให้ “คำตอบ” ในทางการเมืองได้หรือไม่

หรือเสมอเป็นเพียง“พิธีกรรม”โดยไม่มี “คำตอบ” อันแน่ชัด

เป็นคำถามถึงบทบาทของอำนาจนิติบัญญัติ เป็นคำถามถึงการหาทางออกผ่านหนทางรัฐสภา ผ่านพรรคการเมือง ผ่านนักการเมืองว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เป็นที่หวังตามความต้องการของประชาชน ได้หรือไม่

หากดูจากเนื้อหาใน“ญัตติ”ของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะตอบคำถามได้อย่างเด่นชัด

เพราะว่าได้สะท้อนความเรียกร้องต้องการจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน ประชาชนได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ โดยเฉพาะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อไปก็ขึ้นอยู่กับการอภิปรายที่เป็นจริงในรัฐสภาเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน