คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อ่านเกม ราษฎร – ตกลง การชุมนุมของ “ราษฎร” ในการ “ตีหม้อไล่เผด็จการ” ออกมาอย่างไร

ใครที่ติดตาม “ไลฟ์สด” ตั้งแต่ก่อน 16.00 น. ของวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ กระทั่ง 21.30 น. เมื่อมีคำประกาศสลายการชุมนุมจากหน้าสน.ปทุมวัน

ก็จะได้ “คำตอบ” อย่างเป็น “รูปธรรม” เด่นชัด

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ ไมค์ ระยอง ไม่ว่าการปรากฏตัวของ ครูใหญ่ ขอนแก่น ไม่ว่าการปรากฏตัวของ น.ส.ปภัสยา สิทธิวัฒนจิรสกุล คึกคัก หนักแน่น

ประสานกันไปกับเสียงเคาะหม้อ เคาะกลอง

 

เป็นอันข้อคาดหมายที่ว่าม็อบฝ่อลง แผ่วลง มิได้เป็นความจริง

ความจริง ความคาดหมายที่ว่าม็อบจะฝ่อ ม็อบจะแผ่วลง เริ่มมีการประโคมตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 มาแล้วเมื่อมีการเปิดประเด็น “ปฏิรูป”

ในบรรยากาศการชุมนุม ณ ธรรมศาสตร์ รังสิต

แต่แล้วเมื่อมีการชุมนุมรอบที่ 2 ของ “เยาวชน/ประชาชนปลดแอก” ณ บริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 สิงหาคม ปริมาณของการชุมนุมกลับเพิ่ม

เพิ่มและก่อผลสะเทือนกว้างไกลไปถึง “นักเรียน”

การเริ่มต้นยกที่ 1 ของ #ม็อบ10กุมภาพันธ์ กังวาน “ตีหม้อไล่เผด็จการ” จึงคึกคัก

เป็นความคึกคักไม่เพียงแต่ ณ บริเวณสกายวอล์ก หน้าเอ็มบีเคเท่านั้น หากแต่เมื่อสถานการณ์ขยายตัวไปการเคลื่อนขบวนไปหน้า สน.ปทุมวันก็หนักแน่น

เท่ากับเป็นการยกระดับและลงสู่ท้องถนน

คำถามอันแหลมคมเป็นอย่างยิ่งก็คือ หากปริมาณการเข้าร่วมของมวลชนไม่หนาตาข้อเรียกร้องที่ให้ปล่อยตัวเยาวชนที่ถูกคุมตัวก็คงไม่มีผลแต่อย่างใด

เรื่องนี้ตำรวจรู้ดีอย่างที่สุด

แนวโน้มที่พอจะสัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวยกที่ 1 ก็คือ น่าจะมีอีกหลายยก

รูปธรรมหนึ่งที่จะยืนยันความเชื่อนี้มาจากคำประกาศบนเวทีที่ว่าเป้าหมายคือ 4 คนที่ถูกจำขัง ณ คุก และความเชื่อมั่นที่ว่าต้องระดมให้ได้ 2 ล้านขึ้น

จำนวน 2 ล้านนั่นแหละคือดัชนีชี้ไป ยังอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน