คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทบาท การเมือง – ทําไมระยะเวลาในการปรับครม.จึงต้องยืดยาวไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม

ทั้งๆ ที่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า มีความจำเป็นต้องปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

สะระตะเบ็ดเสร็จแล้วก็เพียง 3 ตำแหน่ง

เป็น 3 ตำแหน่งที่ 2 ตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ตำแหน่งในกระทรวงคมนาคมเป็นของพรรคประชาธิปัตย์

ทำไมต้องใช้เวลาจัดการเกือบ 1 เดือนเต็ม

เป็น 1 เดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี

เพราะไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรค ภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรค ชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคขนาดเล็กที่นำโดย นายชัชวาลล์ คงอุดม

พร้อมใจกันยกให้เป็นอำนาจของ “นายกรัฐมนตรี”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยืนยัน “แล้วแต่ นายกฯ” นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยืนยัน “แล้วแต่นายกฯ” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ยืนยัน “แล้วแต่นายกฯ”

แล้วมีเหตุผลอะไรที่นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 เดือนเต็ม

แท้จริงแล้ว กัปปิยโวหาร “แล้วแต่นายกฯ” เสมอเป็นเพียงม่านควันในทางการเมือง

เพราะภายในพรรคพลังประชารัฐก็มีการทำหนังสือและร่วมกันลงชื่อของส.ส.มากกว่า 90 คนไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีจาก “คนนอก”

ความหมายก็คือ ต้องเป็นคนของพรรคพลัง ประชารัฐ

ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยเหมือนกับอยู่เฉยๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับอยู่เฉยๆ แต่ภายในความเฉยนั้นก็ยังรักษาอำนาจของตนอย่างเต็มเปี่ยม

กัปปิยโวหาร “แล้วแต่นายกฯ” จึงไม่มี ความหมายในทางเป็นจริง

การปรับครม.จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ยันปลายเดือนมีนาคมจึงมากด้วยความแหลมคม

เป็นความแหลมคมที่บรรดา ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองซึ่งร่วมอยู่ในรัฐบาล พยายามอย่าง เต็มกำลังที่จะสำแดงบทบาทและความหมายในทาง การเมือง

ลดทอนอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน