คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

รากฐาน การคิด – ความคิดที่จะเข้าไป “จัดระเบียบ” ให้กับกระบวนการ #ย้ายประเทศกันเถอะ น่าสนใจ

น่าสนใจพลันที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหยิบยกเอาประเด็นอันเกี่ยวกับ “สถาบัน” ขึ้นมาว่าเป็นเรื่องล่อแหลมและอันตราย

พลันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ลอยเด่น

พลันทำให้ภาพและการเคลื่อนไหวของกลุ่ม #ย้ายประเทศกันเถอะ กลายเป็นเรื่อง “การเมือง” และเป็นการเมืองซึ่งอยู่ในความขัดแย้งแบบเดิมๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

จําเป็นที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องเริ่มจาก “ความจริง” ที่ดำรงอยู่

อย่างแรกที่สุดต้องสอบค้นให้ได้ว่าสาเหตุที่เกิดกลุ่ม #ย้ายประเทศกันเถอะ มาจากรากฐานของปัญหาว่ามีองค์ประกอบอย่างไร

พวกเขาเป็นกลุ่ม “ผู้ประกอบการ” ขนาดเล็ก ขนาดกลาง

พวกเขาประสบปัญหาอันเนื่องแต่มาตรการ “เข้ม” ของรัฐบาลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และรู้สึกว่าจำต้องดิ้นรนเพื่อหาทางออกให้กับ “อาชีพ” และ “ชีวิต” ตนเอง

เป็นการรวมกลุ่มทาง“อาชีพ”มิได้เป็น “การเมือง”

ในที่สุดแล้ว อุบัติแห่ง #ย้ายประเทศกันเถอะ เกิดขึ้นภายในความขัดแย้งหาทางออก

จากจำนวนสมาชิกและผู้เข้ารวมกลุ่มที่ทะยาน จาก “หลักสิบ” ในเบื้องต้นกลายเป็น “หลักแสน” และ “หลายแสน” ภายในเวลาพียง 3 วันสะท้อนอะไร

สะท้อน “ปัญหา” สะท้อน “ความคับแค้น”

แทนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะหาทางสกัดขัดขวางและจัดการพวกเขาผ่านกระบวนทางกฎหมาย เข้าไปรับรู้ปัญหาและหาทางช่วยเหลือไม่ดีกว่าหรือ

หากในประเทศมี “ความหวัง” พวกเขาคงไม่คิด “เป็นอื่น”

ความแหลมคมอย่างยิ่งของปมอันเนื่องจาก #ย้ายประเทศกันเถอะ อยู่ตรงไหน

อยู่ตรงที่ “ช่องว่าง” ระหว่างคนแต่ละรุ่น คนแต่ ละวัย คนรุ่นใหม่ประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คนรุ่นเก่าไม่มองว่าเป็นปัญหา และคิดว่าพวกเขาคือ “ปัญหา”

หากคิดแบบนี้ก็ยากยิ่งจะแก้ปมของ “ปัญหา” ออกได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน