คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

นัดหมาย 24 มิถุนา – คําประกาศจาก “ราษฎร” ก่อให้เกิดมุมมองหลากหลายในทางการเมือง

เนื่องจากเป็นคำประกาศที่จะ “ออกมา” ชุมนุมและเคลื่อนไหวในทางการเมือง เนื่องจากเป็นการชุมนุมในวาระแห่ง 89 ปีของวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เหมือนกับเป็นการจมอยู่กับ “อดีต” อยู่กับ “ประวัติศาสตร์”

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามความเป็นจริงก็คือ รากฐานที่มาแห่งคำว่า “ราษฎร” ขณะเดียวกัน ที่ไม่ควรมองข้ามความเป็นจริงก็คือ ผลึกแห่ง “ข้อเรียกร้อง” ที่เกิดขึ้น

ดำรงอยู่เพื่อ “อดีต” หรือเพื่อ “อนาคต”

ต้องยอมรับว่า กำเนิดแห่ง “ราษฎร” สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ “คนรุ่นใหม่”

ไม่ว่าจะมองผ่านปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่ว่าจะมองผ่านปรากฏการณ์ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อเดือนสิงหาคม 2563

เป้าหมายโดยพื้นฐานก็คือ ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป้าหมายอันเป็นส่วนขยายและความสัมพันธ์ดำรงอยู่ที่มิได้เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวหากหมายถึงความเป็น “ระบอบ” ที่ค้ำยันอยู่

นั่นแหละคือการยกระดับเป็น “คณะราษฎร 2563” เมื่อเดือนตุลาคม

คําถามก็คือแล้วการปรากฏขึ้นของ “ไทยไม่ทน” และของ “ประชาชนไทย” เล่า

“ไทยไม่ทน” เป็นการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่สะสมความจัดเจนมาจากเดือนพฤษภาคม 2535 และโดดเด่นเป็นอย่างมากในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2553

2 ส่วนนี้ก่อรูปขึ้นมาภายใต้ร่มธง “ไทยไม่ทน”

“ประชาชนไทย” เป็นการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่สะสมความจัดเจนมาจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

2 กลุ่มนี้มีเป้าหมายเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะนักเคลื่อนไหวรุ่นเก่า ไม่ว่าจะนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ มีเป้าหมายเดียวกัน

นั่นก็คือ การปฏิเสธการดำรงอยู่ทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การปฏิเสธการเดินหน้าต่อไปของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์”

สถานการณ์การเคลื่อนไหวในวันที่ 24 มิถุนายน จึงแหลมคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน