คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

พลันที่มีความเชื่อว่า ได้มีการลั่น “กระสุนจริง” เข้าใส่ “ผู้ชุมนุม” จากสน.ดินแดง

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มทะลุฟ้า” ก็จะต้องยอมรับว่า สถานการณ์การชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยกระดับขึ้นแล้ว

คำถามมิได้อยู่ที่ว่าอะไรคือปัจจัยในการเร่งเร้า

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ปฏิบัติการ ของ “หน่วยควบคุมฝูงชน” จะสามารถควบคุมฝูงชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดหรือไม่

หรือว่าสถานการณ์จะยิ่งบานปลายและ ขยายตัว

เบื้องหน้าความเลวร้ายของ “สถานการณ์” นับแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา

ด้านหนึ่ง สังคมรับรู้กับภาพการจัดการเอาตัวบุคคลที่เชื่อว่าเป็น “แกนนำ” เข้าไปอยู่ในกรอบและขอบเขตอันจำกัด ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา หรือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

ที่ทำเช่นนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวต่อฝ่อและไม่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ก็เกิดการเคลื่อนไหวในเชิงยกระดับจากนักเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

พลันที่ประกาศยุติการชุมนุม การเคลื่อนไหว ณ สามเหลี่ยมดินแดงก็บังเกิด

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเคลื่อนไหว ณ สามเหลี่ยมดินแดงเป็นเรื่องใหม่

นั่นก็คือ เป็นการเคลื่อนไหวของ “มวลชน” ซึ่งแยกและแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการ “คาร์ม็อบ” ไม่ว่าจะมองผ่านกระบวนการ “คาร์ปาร์ก”

ในเบื้องต้น พวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “คาร์ม็อบ” และ “คาร์ปาร์ก”

แต่เมื่อถึงเวลาอันแน่นอน ภายหลังคำประกาศยุติการชุมนุม พวกเขาก็จะหันมอเตอร์ไซค์ตรงไปยังบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

เป้าหมายคือการเผชิญหน้าในแบบลูกล่อลูกชนกับ “ตำรวจ”

ประเด็นที่ควรให้ความสนใจก็คือ มวลชน ณ สามเหลี่ยมดินแดงต้องการอะไร

นี่เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นจะต้องการ คำตอบ หากแม้กระทั่งในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเองก็จะต้องค้นคว้า

เพราะนี่คือปรากฏการณ์ “ใหม่” อันปะทุขึ้นในเดือนสิงหาคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน