คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

กรณี พระเกี้ยว เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ใต้กฎ “อนิจจัง”

หากจับ “ปฏิกิริยา” อันเนื่องแต่การเชิญ “พระเกี้ยว” บอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ไม่ว่าจะมาจาก นายสุรพล วิรุฬห์รักษ์ “อาจารย์แหม่ม” ไม่ว่าจะมาจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรี “ดีอีเอส”

ต้องยอมรับว่า “หลงทาง” และ “ผิด” ประเด็น

เพราะเป้าหมายอย่างแท้จริงมิใช่การปฏิเสธบทบาทและความหมายของ “พระเกี้ยว” หากแต่อยู่ที่เครื่องถนิมพิมพาภรณ์แวดล้อมโดยรอบ การเชิญ “พระเกี้ยว”

นั่นก็คือ “ขบวนแห่” และเสลี่ยงหาม “พระเกี้ยว”

ถามว่า “มติ” ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตฯด้วยคะแนนเอกฉันท์ 29 ต่อ 0 เป็นเช่นใด

มติขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายก อยู่ที่เครื่องเคราอันเป็นสร้อยถนิมพิมพาภรณ์

มตินี้มิได้ปฏิเสธ “ความหมาย” ของ “พระเกี้ยว”

หากแต่พวกเขาตระหนักว่า องค์ประกอบของ “พิธีกรรม” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2507 ยิ่งนับวันยิ่งรกและรุงรัง กระทั่งบดบัง “ความหมาย” อันแท้จริงของ “พระเกี้ยว”

สร้างความลำบาก สร้างความยุ่งยากให้กับคนที่ถูกเกณฑ์เข้าหามแห่

พลันที่ประสบเข้ากับ “ปฏิกิริยา” อันมาจากบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลายจึงตามมาด้วยเสียงเฮ

เพราะภายใต้คำอธิบายขององค์การบริหารสโมสรนิสิตกระบวนการหามแห่ไม่เพียงแต่สร้างความลำบากและยุ่งหากให้กับคนที่ถูกบังคับเกณฑ์แรงงานเท่านั้น

หากแต่ยังสะท้อนถึงสภาวะที่ไม่เท่าเทียมกัน เด่นชัด

บรรดาคนสวย คนหล่อที่ได้รับเลือกให้เป็นคนเชิญ “พระเกี้ยว” นั่งเอี้ยมเฟี้ยมอยู่บนเสลี่ยง ขณะที่เพื่อนนิสิตคนอื่นๆ ต้องใช้พละกำลังหามแห่

นี่ย่อมเป็นภาพบาดตา บาดใจยิ่งในยุคแห่งความเสมอภาค

ไม่ว่า “ปฏิกิริยา” จะมากเพียงใด ไม่ว่า “ปฏิกิริยา” จะสามารถล้มมติของ “อบจ.” ได้หรือไม่

กระนั้น ความเป็นจริงหนึ่งซึ่งยากแก่การปฏิเสธก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “ประเพณี” นั้นเหมือนจะมากด้วยความศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ภายใต้ “ข้อกำหนด” ที่แน่นอนหนึ่ง

และ “ข้อกำหนด” นั้นมิได้อยู่เหนือกฎแห่ง “อนิจจัง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน