ปรากฏการณ์ “ต่อต้าน” นายไพบูลย์ นิติตะวัน สะท้อน “ปัญหา” ลึกยิ่งในสังคมไทย

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้จำเป็นต้องมองไปยังบทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตั้งแต่ยังอยู่ในกลุ่ม “20 ส.ว.” อย่างแข็งขัน เอาการเอางาน

เห็นได้จาก นายสมชาย แสวงการ เป็นคนเสนอชื่อ

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า บทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งต่อเนื่องมายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

รับใช้กลุ่มกุมอำนาจมาอย่างภักดี ยาวนาน

ความไม่ชอบต่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นความไม่ชอบในทาง “ส่วนตัว” จริงหรือ

หากฟังจากความเห็นไม่ว่าจะจากคนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากคนของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะจากคนของพรรคชาติไทยพัฒนา

เหมือนกับติดขัดที่ “ท่วงทำนอง” ในทาง “ส่วนตัว”

แต่อย่าลืมบทบาทของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เมื่ออยู่ใน “กลุ่ม 20 ส.ว.” เมื่อได้รับการปูนบำเหน็จเป็น “สปท.” เมื่อจัดตั้งพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถือได้ว่าแนบชิดอยู่กับ “กลุ่มอำนาจ” มาต่อเนื่อง

ปฏิบัติการ “ต้าน” นายไพบูลย์ นิติตะวัน สะท้อนบทสรุปและอารมณ์ “ร่วม” ทาง การเมือง

เป็นอารมณ์ “ร่วม” อันไม่เพียงแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย อย่างก้าวไกล อย่างเสรีรวมไทย อย่างประชาชาติ

หากแม้กระทั่งจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

หากไม่มีความรู้สึก “ร่วม” จากพรรคภูมิใจไทย หากไม่มีความรู้สึก “ร่วม” จากพรรคประชาธิปัตย์ หากไม่มีความรู้สึก “ร่วม” จากพรรคชาติไทยพัฒนา

โอกาสของ นายสาธิต ปิตุเตชะ คงไม่เกิดขึ้น

ปฏิกิริยา “ต้าน” ต่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในตำแหน่งประธานกรรมาธิการจึงลึกซึ้ง

เป็นอารมณ์ “ร่วม” ที่สะสมจากพฤติการณ์ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เอง ที่สำคัญก็คือ เป็นพฤติการณ์ที่รับใช้ “ผู้กุมอำนาจ” อย่างเต็มที่ อย่างสุดความสามารถ

ถามว่าใครเล่าที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รับใช้ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน