ไม่ว่าเป้าหมายแห่งปฏิบัติการเปลี่ยนชื่อสะพานในย่านเกียกกายจะเป็นอย่างไร

ก็ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ซึ่งต่อเนื่องไปยังสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2476

ได้มีการกล่าวถึงด้วยแง่มุมแตกต่างไปตามจุดที่ยืนมอง

แม้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นเขตดุสิต ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะออกมา “แซะ” ชื่อสะพานใหม่ออกไป

แต่ชื่อ “สะพานท่าราบ” ก็ได้กลายเป็น “ประเด็น”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องอันสัมพันธ์กับสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เด่นชัด

หากไม่มีการก่อการของ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 บทบาทของ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ก็ไม่โดดเด่น

อันเป็นที่มาแห่งชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” ในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน หากไม่มีการนำเอาชื่อใหม่ “สะพานท่าราบ” มาปิดทับอยู่เหนือชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” ทุกอย่างก็เงียบหายไปกับกาลเวลา

นี่จึงเหมือนกับการเกิดขึ้นของ “ห้องบวรเดช” ในกองทัพบก

ความน่าสนใจของเรื่องทั้งหมดอยู่ที่เป็นปฏิบัติการในพื้นที่ของกองทัพ ของทหาร

นั่นก็คือ สะพานพิบูลสงครามตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน กองพลทหารม้า และกรมอุตสาหกรรมทหาร

เรียกว่าแวดล้อมโดย “ทหาร” อย่างหนาแน่น

อย่าได้แปลกใจหากไม่ว่าจะถามไปยังผู้อำนวยการเขตดุสิต ไม่ว่าจะถามไปยังสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ล้วนตกอยู่ในอาการเป็นใบ้

ยิ่งกว่านั้น “กล้องซีซีทีวี” ก็อยู่ในสภาพ “จำเป็น” ต้องเสีย

กระนั้น หากจับความตามกระแสการปรากฏของ “สะพานท่าราบ” ก็สำคัญ

ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้โดดเด่นอย่างยิ่งผ่านสื่อใหม่ “โซเชี่ยลมีเดีย” แล้วสื่อเก่าอย่าง “หนังสือพิมพ์” จึงไปตามข่าว

ปรากฏขึ้นและเชื่อว่าจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน