เหมือนกับกรณีของ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย จะมากด้วยแรงสะเทือนทางการเมือง
เนื่องจาก น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย คือเงาสะท้อนแห่ง นายอิสสระ สมชัย ขาใหญ่ซึ่งเคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์อันเป็น “สถาบัน” ทางการเมือง
พลันที่คนของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความโน้มเอนไปยังพรรคภูมิใจไทยพร้อมกับภาพของ นายเนวิน ชิดชอบ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงเกิดการช็อก
ทั้งๆ ที่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย มิได้เป็นคนแรก
หากมองจาก “อดีต” ตั้งแต่แรกพรรคประชาธิปัตย์กำเนิดขึ้นในเดือนเมษายน 2489
นักการเมืองคนแรกที่แยกตัวออกมาคือ นายเลียง ไชยกาล ทั้งๆ ที่ร่วมก่อตั้งมาด้วยซ้ำ และตามมาด้วย นายเทพ โชตินุชิต
ยิ่งกว่านั้น ยังมี นายสมัคร สุนทรเวช
ยิ่งกว่านั้น ยังมี นายอุทัย พิมพ์ใจชน ยังมี นายวีระ มุสิกพงศ์ ที่แยกตัวออกมาจัดตั้งพรรคก้าวหน้า พรรคประชาชน
ยิ่งในยุคหลังรัฐประหาร 2557 ยิ่งอึกทึกครึกโครม
ไม่เพียงแต่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หากยังมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมอยู่ด้วย
พรรคมหาชนก็มิใช่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หรอกหรือ พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็มิใช่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรอกหรือ
ยังพรรคกล้าก็เป็น นายกรณ์ จาติกวณิช เด่นชัด
จากนั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็พรรคไทยภักดี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็พรรครวมไทยสร้างชาติ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็พรรคสร้างอนาคตไทย
ทั้งหมดทำให้ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย เป็นเรื่องเล็กโดยพลัน
จากสถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีผลสะเทือน
เพราะคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงบทอย่างสำคัญในการปูทางสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร
ผลสะเทือนที่ตามมาคือ ปรากฏการณ์ “แพแตก” ทางการเมือง