มองในเชิงเปรียบเทียบต่อ “กระบวนท่า” ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

ไม่ว่าจะมองในห้วง “ก่อน” หรือ “หลัง” การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม มีความแตกต่างระหว่างกันเป็นอย่างสูง

1 อ่อนหัดกว่า 1 จัดเจนยิ่งกว่า

เพียงปะทะในห้วงแห่งการช่วงชิงตำแหน่ง “ประธานสภา” ก็เห็นได้อย่างเด่นชัดว่าพรรคเพื่อไทยมากด้วยลีลา ขณะที่พรรคก้าวไกลทื่อๆ ตรงๆ

ถามว่าเมื่อเข้าสู่โหมด “รัฐบาลพิเศษ” สภาพเป็นอย่างไร

สถานการณ์เบื้องต้นเมื่อมีการฉีก MOU พรรคเพื่อไทยมากด้วยความคึกคัก

เป็นความคึกคักในการดึง 71 เสียงจากพรรคภูมิใจไทยมาเป็นพวก เป็นความคึกคักในการดึง 10 เสียงจากพรรคชาติไทยพัฒนามาเป็นพวก

เป็นความพยายามฉีกทำลาย 188 เสียงที่เคยมีอยู่

ผลก็คือ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดย 40 เสียงจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดย 36 เสียงจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

เด่นชัดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กำหนด “เกม”

แต่ภายในความราบรื่นที่ฉาบหน้าก็เริ่มมี “สัญญาณ” เตือนดังกังวานออกมา

เป็นสัญญาณจากพรรคภูมิใจไทย เป็นสัญญาณจากพรรคชาติไทยพัฒนา ในเรื่องกระทรวงที่มาดหมายว่าสมควรมีคำตอบอย่างไร

เตือนถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย ถึง นายเศรษฐา ทวีสิน

เป็นสัญญาณจากพรรครวมไทยสร้างชาติ จากพรรคพลังประชารัฐ ถึงความไม่แน่นอนในทิศทางและแนวโน้มของ 250 สว.ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

ส่งตรงถึงพรรคเพื่อไทย ระบุทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล

หากยังไม่กำหนดกระทรวงและโควตาที่แน่นอนก็อย่าหมายว่าจะ “เดินหน้า”

บ่งชี้ว่าแท้จริงแล้วอำนาจในการกำหนดทิศทางของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาลพิเศษ” นั้นอยู่ใน “อำนาจ” ของใครกันแน่ เป็นของพรรคเพื่อไทยจริงละหรือ

ก่อให้เกิดคำถามว่า ใครกันแน่ที่ “กำหนดเกม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน