ท่าทีของ “ต้องเต” ต่อการถูกตั้งข้อรังเกียจในเรื่อง “การแต่งกาย” ของตนน่าศึกษา
ไม่เพียงเป็นท่าทีที่ให้ “อภัย” หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นการให้อภัยบนฐานแห่ง “ความเข้าใจ” ต่อเหตุผลที่พี่ซึ่งเป็น “พิธีกร” คิดเช่นนั้น
เพียงเห็น “นามสกุล” ของ “พี่พิธีกร” ทุกคนก็ร้องฮ้อ
การแสดงความรังเกียจในเรื่องการแต่งกายของ “ต้องเต” เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่ ในเมื่อ “ค่านิยม” ในเรื่องวัฒนธรรมความคิดมีความแตกต่างกัน
ความเข้าใจของ “ต้องเต” ต่างหากคือ “วุฒิภาวะ”
ในโลกที่มีความเป็น “สมัยใหม่” ท่าทีและปฏิกิริยาจาก “ความเห็นต่าง” เป็นเรื่องปกติ
ในยุคที่มี “ขุนนาง” มี “ไพร่ทาส” เป็นบริวารก็เป็นเรื่องปกติอีกเหมือนกันที่ “เจ้านาย” จะมีความเห็นต่อบรรดาข้าทาสและบริวาร
โดยที่บริวารเป็น “ผู้น้อย” ก็ต้องคอยก้ม “ประณม” ไป
แต่เมื่อแสงแห่ง “ประชาธิปไตย” ค่อยๆ สาดฉายเข้ามา ท่าทีในแบบของ “สาย สีมา” ก็เริ่มปรากฏขึ้นแม้ในคฤหาสน์หรูของ “ท่านเจ้าคุณ”
บรรดา “ปีศาจ” ทั้งหลายต่างกล้า “เผยแสดง”
มองจากด้านของ “พี่พิธีกร” มองจากด้านของ “ต้องเต” จะเห็นจุดร่วมและจุดต่าง
จุดร่วมอยู่ตรงที่สังคมเข้าใจ “ความรู้สึก” ของ “พี่พิธีกร” ที่มีต่อการแต่งกายของ “ต้องเต” เหมือนไม่ให้เกียรติรายการ แต่ที่สำคัญกลับเป็น “ต้องเต”
“ต้องเต” มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเข้าใจ “พี่พิธีกร”
การยอมรับโดยการไม่ตอบโต้ในเชิง “วิวาทะ” ต่างหากที่มีความหมายและมีความสำคัญเพราะถึงอย่างไร “ต้องเต” ก็ยังแต่งกายเหมือนเดิม
การปฏิบัติต่างหากที่เป็นเครื่องยืนยัน
ในโลก “สมัยใหม่” วิวาทะเนื่องแต่ “ความเห็นต่าง” ปรากฏขึ้นเหมือนเรื่องธรรมดา
อาการเกรี้ยวกราดต่อคนบางคน ไม่ว่าด้วยเรื่อง “รสนิยม” ไม่ว่าด้วยเรื่อง “ความคิด” ไม่ว่าด้วยประโยชน์ในทาง “การเมือง”
ต้องทำความเข้าใจและมี “วุฒิภาวะ” เพียงพอในการจัดการ