เสียงแย้งจากนักการเมืองดังกระหึ่ม หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างการดูดส.ส. เป็นครรลองประชาธิปไตยที่มีมานานแล้ว

ไม่ได้ปฏิเสธว่าในอดีตไม่มี หากแต่แย้งว่ารูปแบบการดึงตัวส.ส.ในอดีต ต่างกับการดำเนินการที่รัฐบาลคสช.ทำอยู่

แล้วบรรดานักวิชาการมองเรื่องนี้อย่างไร

 


อนุสรณ์ อุณโณ
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

นับเป็นอีกครั้งที่คสช.หยิบยกศัพท์แสง สร้างวาทกรรมเพื่อหวังสร้างความชอบธรรมมาอธิบายให้การกระทำของตนเอง โดยหลักการระดมหาสมาชิกพรรคก็เป็นเรื่องปกติที่ทำกันโดยทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานหรืออุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยอะไรเลย

เป็นเพียงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีบีบบังคับให้อดีตส.ส. หรือกลุ่มที่มีฐานเสียงในพื้นที่เข้ามาร่วมกับพรรคของตัวเอง เพื่อเข้าร่วมในสนามการเลือกตั้งที่พวกของตนเองร่างกติกากันขึ้นมาเอง และสร้างให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

การหาเสียงโจมตีพรรคที่เกี่ยวข้องกับคสช.อาจจะแทบเป็นไปไม่ได้โดยปริยาย เพราะมาตรา 44 ยังอยู่ ไม่นับนโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลคสช.กำหลังดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นไทยนิยมหรือประชารัฐที่เอื้อและเกื้อกูลกันอยู่

ขณะเดียวกันก็หยิบยกคดีความ หรือธุรกิจปริ่มน้ำสีเทาของกลุ่มก้อนการเมืองแต่ละกลุ่มขึ้นมาปิดปาก ต่อรอง กดดัน ให้อดีตส.ส.ย้ายมาร่วมกับขั้วของตนเอง

พลังดูดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จึงไม่มีตรงไหนที่เป็นหลักประชาธิปไตย แต่ละคนที่ถูกดูดไม่ได้มีสิทธิเสมอหน้า หรือเท่าเทียม ในการมาร่วมกับพรรคเลย เป็นเพียงการอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีมาสร้างความได้เปรียบ

การเลือกตั้งครั้งถัดไปหากจะเกิดขึ้นจึงอยู่ในสายตาของคสช.ตลอดเวลา สร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้งครั้งหน้า ใครก็ตามที่มาร่วมกับพรรคตนจะมีโอกาสได้รับชัยชนะมากกว่า

จริงอยู่สังคมการเมืองอาจจะยังไม่พัฒนาไปไกลมากนัก มุ้งหรือกลุ่มการเมืองในระดับจังหวัดและระดับภาคยังคงมีอยู่ แต่เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะร่วมกันสะสางกันต่อไป

จากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาการดูดดึงตัวอดีตส.ส.เคยเกิดขึ้น แต่สำหรับครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นไร้ซึ่งเสรีภาพ การดูดก่อนหน้านี้ในสมัย จอมพล ป. หรือพล.อ.สุจินดา คราประยูร ยังทำกันแบบเงียบๆ คนถูกดูดยังมีโอกาสเลือกมากกว่า

ส่วนผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูประชาชน ที่ส่วนใหญ่ในแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์กับทั้งตัว ผู้สมัครส.ส.และนโยบายจากพรรค ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาต่อให้พรรคคสช.ได้รับชัยชนะ ก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมแน่นอน

แต่จะยกระดับถึงเหตุการณ์แบบพฤษภาฯ 35 ที่ประชาชนออกมาร่วมขับไล่พล.อ.สุจินดาหรือไม่นั้นเดาไม่ได้ แต่หากคสช.ทำตัวอุจาด ลุแก่อำนาจก็มีโอกาสสูง

สำหรับบรรยากาศในรัฐสภาเองก็คงบริหารไม่สะดวก เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจกวาดทุกคนมาเป็นพวกตนเองได้ ไม่มีฝักถั่วเหมือนสนช.ที่แต่งตั้งกันขึ้นมาเอง การบริหารก็จะทำได้ไม่สะดวก

อยากฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช.ว่าอย่ามาเล่นการเมือง ตอนแรกที่เข้ามายึดอำนาจปวารณาตนไว้ว่าจะมาคลี่คลายปัญหา สร้างกติกาที่เป็นธรรมให้แก่ฝ่ายการเมือง

แต่ล่าสุดการแข่งขันในสนามการเมืองตั้งก็ทำท่าจะไม่เป็นธรรม กติกาถูกร่างออกมาเอื้อให้พรรคของตัวเองได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ หากจะมาแบบนี้ก็ถือว่าไม่สง่างาม ภารกิจปฏิรูปก็ไม่เสร็จสิ้นเห็นผลที่เป็นรูปธรรม

ในเมื่อ 4 ปีสำหรับคสช. แก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้สันทัดกรณีคือนักการเมืองอาชีพ ผ่านสนามแข่งขันเข้ามาบริหารประเทศ อย่าเอาอำนาจเบ็ดเสร็จในมือมาสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้พรรคพวกของตนเองเล่นการเมืองเลย

 


ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ออกมาระบุว่าการดูด ส.ส.เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วและเป็นครรลองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์

เรื่องดังกล่าวไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่ดี เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องยึดหลักสากล

ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาบอกว่าการดูดส.ส.เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยนั้น กำลังยอมรับว่าการที่ ส.ส.เปลี่ยนค่ายหรือย้ายขั้วนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีหรือ

มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับสะท้อนให้เห็นว่าคนที่อาสาเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรนั้นมองแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดออกมานั้นเท่ากับว่าได้ยอมรับวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ดี แล้วที่บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นว่าทำในสิ่งที่ไม่ดีเสียเอง

นอกจากไม่สะท้อนถึงการปฏิรูปแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำให้วัฒนธรรมการเมืองที่ไม่ดีแบบนี้ยังคงสืบเนื่องอยู่ในระบบการเมืองไทยโดยที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แสดงเจตจำนงถึงการปฏิรูปที่ดี

หากถามว่าการที่กลุ่มผู้มีอำนาจจะดูดส.ส.ให้เข้าไปอยู่ร่วมด้วยไม่ว่าใช้อำนาจเงินหรือเก้าอี้นั้น โดยส่วนตัวมองว่าในอดีตกับปัจจุบันไม่แตกต่างกันมากนัก
ทั้งนี้ คสช.อยู่ในช่วงได้เปรียบทั้งโครงสร้างของรัฐธรรมนูญเอง รวมทั้งโครงสร้างทางสังคม นอกจากนี้ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ และ เชื่อมโยงโดยผ่านทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ

ที่สำคัญ คสช.อาจเข้าใจว่าตัวเองอาจเป็นที่นิยม ได้รับการยอมรับที่จะได้เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ส.ที่ถูกดูดหรือยอมย้ายขั้วมา ต้องพิจารณาแล้วว่ามีแนวโน้มที่ตัวเองจะได้เป็นรัฐบาลสูง กลุ่มตระกูลการเมืองต่างๆ จึงยอมย้ายมาเข้าร่วมกับคสช.

ประเด็นจึงอยู่ที่ ส.ส.ที่ย้ายพรรคย้ายข้างนั้นมีความมั่นใจว่าจะได้ร่วมเป็นรัฐบาลโดยที่ไม่สนจุดยืน หรือยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น คนเหล่านี้มองแต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองมากกว่าประชาชน

สะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นประชาชนไม่ควรเลือกคนเหล่านี้ให้กลับเข้ามา ซึ่งก็เห็นๆ อยู่ว่ามีกลุ่มหรือตระกูลการเมืองใดบ้างที่แสดงตัวอยู่ในขณะนี้

ส่วนที่มีอดีตส.ส.ฝั่งพรรคเพื่อไทยออกมาแฉว่าอดีตส.ส.ถูกบังคับให้ย้ายข้าง โดยอ้างเรื่องของธุรกิจหรือคดีความมากดดันนั้นไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจจะทำเช่นนั้นหรือไม่ แต่ก็กลายเป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนตนอีกเช่นกัน

คสช.ต้องดูดกลุ่มตระกูลการเมืองต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่ เพื่อให้คสช.สามารถสืบทอดอยู่ในอำนาจต่อได้อย่างยาวนาน มั่นคงและมีเสถียรภาพในระบบการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าก็ไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว เพราะขณะนี้ คสช.ก็ยังไม่ปลดล็อกคำสั่งให้พรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ในขณะที่ คสช.หาเสียงผ่านกลไกของรัฐ

การเลือกตั้งครั้งต่อไปถึงไม่ยุติธรรมหรือเป็นธรรมแต่อย่างใด คสช.ควรให้เสรีภาพทางการเมืองทั้งในส่วนของคนและพรรคอย่างเท่าเทียมกัน

 


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

หากเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยการย้ายพรรคถือเป็นเรื่องธรรมดา การย้ายแต่ละครั้งก็ไม่มีค่าตัวมากเท่าไร แต่ถ้าฝ่ายยึดอำนาจมาตั้งพรรคการเมือง การจะดึงคนจากพรรคการเมืองอื่นมาอยู่ในสังกัดพรรคตัวเองต้องใช้เงินจำนวนมาก

เพราะการย้ายมาอยู่กับฝ่ายที่ยึดอำนาจมีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเลือกตั้ง ทำให้อาจต้องใช้เงิน ใช้ตำแหน่งต่างๆ มาทดแทน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นยุคที่เป็นประชาธิปไตยการดูดส.ส.จะไม่ค่อยเกิดขึ้น เว้นแต่พรรคไหนแตกและแยกย้ายกันออกไปด้วยความสมัครใจ

การดูดส.ส.นั้นต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ต้องแน่ใจว่าพื้นที่ที่จะดึงตัวอดีตส.ส.มาต้องได้รับเลือกแน่ๆ การดึงให้มาอยู่พรรคตัวเองก็จะมีค่าตอบแทนมาก

อีกทั้งการไปเอาคนจากพรรคใหญ่ 2 พรรคมาอยู่พรรคตัวเอง โอกาสจะชนะในพื้นที่ดังกล่าวก็ยากกว่า เพราะชื่อเสียงและความนิยมในตัวพรรคใหญ่มีสูง แต่ก็อาจจะชนะได้ในพื้นที่ที่นิยมตัวบุคคลมากกว่าพรรค

จะเห็นได้ว่าวิธีการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การดูดส.ส.น่าจะใช้เงินจำนวนมาก แต่การย้ายหรือเปลี่ยนพรรคในระบอบประชาธิปไตยแค่รักชอบกันก็ย้ายได้ด้วยความสมัครใจ

ดังนั้นเมื่อสมัครใจจะใช้คำว่าดูดไม่ได้ จึงไม่เหมือนกับที่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.พูดว่าการดูด ส.ส.มีมานานแล้ว

นอกจากนี้ การดูดส.ส.ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อมาสู้กับพรรคเดิม และยังเอาเก้าอี้มาล่อก็เป็นเรื่องต่างหากอีก

สิ่งที่อยากจะเตือนคือการดูดส.ส.มาเข้าพรรคตัวเองเพื่อจะเล่นการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ประวัติศาสตร์มีให้เห็นแล้วว่าล้มเหลว เมื่อถึงเวลาก็จะล่มสลาย ในที่สุด

คนที่แนะนำรัฐบาลทำผิดพลาดมาก แต่การที่เขาต้องเล่นการเมืองเพราะอาจจนมุมในเรื่องที่ทำไว้ เหมือนนักการเมืองที่เล่นการเมืองจนตายเพราะต้องการปกป้องทรัพย์สินของตัวเอง

ก็เหมือนกับการที่รัฐบาลทหารจำเป็นต้องคงอำนาจไว้ ไม่ว่าจะเล่นการเมืองโดยวางกฎหมาย วางยุทธศาสตร์ไว้ 20 ปี พยายามใช้ทุกวิถีทาง เพราะเป็นเฮือกสุดท้ายแล้ว

ส่วนตัวเคยฉุกคิดว่าอาจไม่มีเลือกตั้ง อาจเลื่อนไปอีกก็ได้ ก็ต้องลองดูว่าผู้กุมอำนาจจะเล่นบทไหนไปเรื่อยๆ คิดว่าที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำรัฐบาลทุกอย่างที่ ผ่านมาตลอด 4 ปี ที่ทำได้ก็เพราะมีปืนจี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน