FootNote : เบื้องหน้า พลังประชารัฐ คึก เบื้องหลัง การบีบ ย้ายพรรค

การไหลเข้าไปยังพรรคพลังประชารัฐแม้จะเป็นเรื่องชินตาในทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง

แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆแยกจำแนกบทบาทและความหมายออกมาให้มีความเด่นชัด

การตบเท้าเข้าไปของนักการเมืองอย่าง นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ หรือ นายมานิต นพอมรบดี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เข้าใจได้เหมือนกรณี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

เพราะนักการเมืองเหล่านี้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนาน เหมือน “มด” ที่กระสากลิ่นของพายุใหญ่ซึ่งจะตามมาด้วยมรสุม คลุ้ม พิรุณคลั่ง

แต่การตัดสินใจของหลายคน หลายกลุ่มก่อนเส้นตายวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยล้วนน่าคิด

จำเป็นต้องพิจารณาอย่างแยกจำแนก

ตัวอย่างจาก นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ อันมีผลสะเทือนจากบิดา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นั้น สังคมมองอย่างเข้าใจและเห็นใจ

เช่นเดียวกับกรณีของอดีตส.ส.จากกำแพงเพชร

ไม่ว่าจะมองผ่าน พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ไม่ว่าจะมองผ่าน นายไผ่ ลิกค์

ก็ทะลุไปยัง นายวราเทพ รัตนากร

การไปของ นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ การไปของอดีตส.ส.กำแพงเพชร อาจจะเหมือนกับกรณีอันเกิดขึ้นกับตระกูลคุณปลืม ตระกูลโพธิพิพิธ ตระกูลอัศวเหม รวมถึงตระกูลเทียนทอง

เป็นความขมขื่นและรวดร้าวในใจลึกๆของแต่ละคนในลักษ ณะจำใจ

สภาพการณ์เช่นนี้พรรคพลังประชารัฐได้ “คน”

แต่ภายใต้สภาพการณ์กดบีบเช่นนี้สังคมสัมผัสได้ในความรู้สึกและความเป็นจริงในทางการเมือง และตรงนี้แหละทำให้มากด้วยความละเอียดอ่อน

มองเห็นเหมือนกับสถานการณ์ “รสช.”เมื่อปี 2535

ที่มีหลายคนเปรียบเทียบสภาพของพรรคพลังประชารัฐเหมือนกับ สภาพของพรรคสามัคคีธรรม จึงเท่ากับเป็นการนำเอาอดีตมาเป็นบทเรียน

บทเรียนของรัฐประหารโดยรสช.เมื่อปี 2534 กับบทเรียนของรัฐประหารโดยคสช.เมื่อปี 2557

กับผลสะเทือนในปี 2535 และผลสะเทือนในปี 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน