วัตถุอันตราย

วัตถุอันตรายคําตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นประเด็นที่น่าอื้ออึงที่สุดเรื่องหนึ่งในช่วงเวลานี้

นอกเหนือจากประเด็นสารพิษที่ไทยมีทิศทางสวนทางกับนานาประเทศ โดยเฉพาะพาราควอตที่เลิกใช้ไปแล้ว 50 ประเทศ

กรณีนี้ยังแสดงให้เห็นอำนาจรัฐในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ใช้จำนวนคนเพียงเล็กน้อย และไม่ได้เกี่ยวโยงกับประชาชน

ทั้งที่กรณีนี้มีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุน และกลุ่มที่คัดค้านจำนวนมาก แต่กลับไม่ทำให้เกิดข้อสรุปอันเป็นที่ยอมรับของสองฝ่าย

จากข้อมูลทางราชการ ปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในประเทศ

ส่วนผู้ใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืช กังวลว่าหากห้ามใช้สารดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสูงขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชของไทยสูงกว่า 30 ล้านลิตรต่อปี

หลังคำตัดสินไม่แบนที่ทำให้เกิดข้อสงสัยมากมาย เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ออกแถลงการณ์แสดงความรู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดต่อมติดังกล่าว

ด้วยเห็นว่า สารดังกล่าวจะคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ระหว่างการรอตัดสินอีก 2 ปีว่าไทยควรยุติสารวัตถุอันตรายเหล่านี้อย่างถาวรหรือไม่ ทางกระทรวงเกษตรฯ ออกมาตรการ 6 ข้อที่เกี่ยวข้อง

ข้อหนึ่งคือให้ใช้สารนี้เฉพาะกับ 6 พืช ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

สิ่งที่ราชการควรต้องเร่งทำคือการเผยแพร่ข้อมูลอย่างชัดเจนต่อเกษตรกร โดยเฉพาะผู้เพาะปลูกพืช 6 ชนิดในราชการ รวมไปถึงผู้บริโภคทั้งหมด

ตรงกับมาตรการหนึ่งที่ราชการระบุว่าจะ ส่งเสริม สนับสนุน และการให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงโซเชี่ยลมีเดีย

แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐต้องปรับปรุงด้วยคือฟังประชาชนทุกฝ่ายก่อนการตัดสินใจ

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน