แนวทาง “ยุบพรรค” เป็นแนวทางรุนแรงในการใช้กำราบพรรคการเมือง เริ่มปรากฏหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และปรากฏอีกครั้งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความหมายโดยตรงก็คือ การพิฆาต เข่นฆ่า หรือประหารชีวิตพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

เห็นได้จากการยุบพรรคไทยรักไทยในเดือนพฤษภาคม 2550 เห็นได้จากการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ในเดือนพฤศจิกายน 2551

ถามว่าภายหลังการยุบพรรคแล้วชะตากรรมของพรรคการ เมืองเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นอย่างไร

มีแต่การศึกษาจาก”ของจริง”เท่านั้นจึงจะได้”คำตอบ”

เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบก็นำไปสู่การจัดตั้งพรรคพลังประชาชน เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบก็นำไปสู่การจัดตั้งพรรคเพื่อไทย

เมื่อพรรคชาติไทยถูกยุบก็เกิดพรรคชาติไทยพัฒนา

เมื่อพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบบางส่วนก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพรรคเพื่อไทย บางส่วนก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ

แต่ในกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยน่าศึกษาอย่างยิ่ง

จากพรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคพลังประชาชนและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ยังเป็นพรรคอันดับ 1

จากพรรคพลังประชาชนกลายเป็นพรรคเพื่อไทยและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ยังอันดับ 1

การยุบพรรคชาติไทย การยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย กับการยุบพรรคไทยรักไทย และการยุบพรรคพลังประชาชน ส่งผลในทาง การเมืองแตกต่างกัน

แสดงว่ายุบพรรคได้แต่ไม่สามารถทำลาย”ความคิด”ได้

หากนำเอาบทเรียนจากการยุบพรรคไทยรักไทย จากการยุบพรรค พลังประชาชน มาใช้กับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็จะมองเห็นด้านที่ไม่ควรมองข้าม

นั่นก็คือ พรรคไทยรักษาชาติอาจไม่มีอยู่ในทางนิตินัย แต่ในทางความคิดยังดำรงอยู่

เพียงแต่จะกระจายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน