วันประวัติศาสตร์ ชี้อนาคตประเทศ

วันประวัติศาสตร์ ชี้อนาคตประเทศ – หลังจากเลื่อนมา 5 ครั้ง ในที่สุดก็มาถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

วันที่คนไทยทั้งประเทศรอคอย เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หลังการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มายาวนาน 4 ปี 10 เดือน

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ออกแบบเนื้อหาหลักๆ

มุ่งสร้างความได้เปรียบรองรับพรรค การเมืองฝ่ายสืบทอดอำนาจที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ลักษณะคล้ายพรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคสามัคคีธรรมในอดีต

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็สร้างอุปสรรคขวากหนามต่างๆ นานา ให้พรรค การเมืองที่มีจุดยืนอุดมการณ์ต่อต้าน การสืบทอดอำนาจ หรือที่เรียกว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายสืบ ทอดอำนาจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กลับมามีอำนาจในฐานะแคนดิเดต นายกฯ ของพรรค

ผ่านการเลือกตั้งที่ออกแบบกฎกติกาไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ สะท้อนชัดเจนจากการที่แกนนำพรรคบางคนถึงกับพูดว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับสื่อมวลชนถึงสเป๊กนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังเลือกตั้ง จะต้องมาจากพรรคที่ชนะอันดับ 1

ซึ่งในระหว่างนั้นหากดูจากกติกาการเลือกตั้ง อาทิ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา

รวมถึงการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การลงมติเห็นชอบตั้งนายกฯคนใหม่ ต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันของส.ส. 500 คนจากการเลือกตั้งของประชาชน และส.ว. 250 คนจากการคัดเลือกของ คสช. ด้วยเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง

สะท้อนได้ว่า ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาอย่างพิสดาร บวกกับพลังดูด กระสุนเสบียงกรัง กำลังคนภาครัฐ และกองทัพ ฯลฯ ทำให้พรรคสืบทอดอำนาจมีความฮึกเหิม

มั่นใจเกินร้อยจะชนะเลือกตั้งได้ไม่ยากเย็น

ขณะที่สถานการณ์พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องหาทางดิ้นรนเอาตัวรอดจากกับดักต่างๆ ที่ฝ่ายต้องการสืบทอดอำนาจขยันวางเอาไว้อย่างเป็นระบบ

พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เต็มโควตา 3 คน ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ

ในช่วงโค้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยโหมหนักในประเด็นเรียกร้องให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลาย ชนิดที่เมื่อนำไปรวมกับพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยด้วยกันแล้ว ต้องให้ได้ส.ส.มากกว่า 376 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

เพื่อปลดล็อก 250 ส.ว.ออกจากการโหวตสนับสนุนนายกฯ จากพรรคสืบทอดอำนาจ

จุดยืนตรงนี้ไปในทิศทางเดียวกันกับของพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียว

แต่ของพรรคอนาคตใหม่อาจล้ำกว่า โดยนายธนาธร เสนอว่า หากพรรคสืบทอดอำนาจได้เสียงจากการเลือกตั้งไม่ถึง 125 เสียง พรรคการเมืองที่เหลือควรผนึกกำลังกันทั้งหมดทุกเสียง

ในการลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ จะชื่ออะไร หรือมาจากพรรคใดก็ตาม

เพื่อแสดงถึงการเคารพฉันทามติประชาชนเสียง ส่วนใหญ่

และเป็นการ “ปิดสวิตช์ 250 ส.ว.” ตัดขาดออกจากวงจรการโหวตนายกฯ ที่ควรเป็นเรื่องของตัวแทนประชาชนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ควรมีตัวแทนคสช. เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะอาจเป็นชนวนขัดแย้งในสังคมได้

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ นอกจากจุดยืนแข็งแกร่งในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจทุกรูปแบบ ยังมีภาพลักษณ์โดนใจคนรุ่นใหม่ ทำให้ถูกจัดอันดับให้เป็นพรรคใหม่ ที่กระแสมาแรงมากสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้

ถือเป็นพรรค“ตัวแปร”สำคัญ ที่อยู่นอกเหนือการ คาดการณ์ของฝ่ายผู้มีอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะโดนฝ่ายตรงข้ามใช้วิชามารใส่ร้ายป้ายสีอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง

แต่ก็ดูเหมือนจะหยุดความแรงไว้ไม่อยู่

ต่อข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ในการปิดสวิตช์ 250 ส.ว. ในเบื้องต้นมีแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่แสดงอาการตอบรับเห็นด้วย เนื่องจากเป็นจุดยืนไม่แตกต่างกัน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังติดโลโก้แทงกั๊กไว้เช่นเคย

โดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากหลังออกมาประกาศ จุดยืน ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกฯ ต่อ

แต่กลับแบะท่าพร้อมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคชาติพัฒนา ยังคงแสดงจุดยืน “แทงกั๊ก” แบบเสมอต้นเสมอปลาย จะรอพลิกทีเดียวหลังเลือกตั้งหรือไม่ ต้องรอดู

ส่วน พรรคภูมิใจไทย ถึงจะมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไป หลังๆ เริ่มเอาใจออกห่างจากพรรคผู้มีอำนาจ สังเกตได้จากการแสดงจุดยืนของหัวหน้าพรรคในระยะหลัง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังวางใจไม่ได้อยู่ดี

เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะภาพลักษณ์หรือจุดยืนทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยไม่ค่อยกลมกลืนกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมากเท่าใดนัก

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีมุมมองน่าสนใจจากนักวิชาการหลายคน

นายประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “โอลด์แฟชั่น” หรือการเมืองเก่ากลับมาในสภาพภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

ทั้งการใช้อิทธิพล ระบบอุปถัมภ์ ใช้เครือข่ายหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพล และ คืนหมาหอน ซึ่งอาจมีสาเหตุจาก 2 ทาง คือ คนวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งไม่รู้ว่า ภูมิทัศน์ทั้งหมดเปลี่ยนไป จึงใช้วิธีเก่าแล้วคิดว่าจะได้ผล

หรือรู้แต่ฝืนทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เพราะการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่มีนโยบายและเอาชนะใจประชาชนได้ ต้องใช้เวลานาน

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม จะมีลักษณะเป็นการ“ชักเย่อ”กันระหว่างการโหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง กับโหวตเพื่อรักษาสภาพเดิม แม้จะยังไม่ใช่การโหวตเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมือง

แต่ก็จะหลุดพ้นจากสภาวะไม่ปกติ พื้นที่ของประชาชนเปิดกว้างมากขึ้น สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น มีรัฐบาล มีฝ่ายค้าน มีสภาที่มีสีสันมากที่สุด

อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก หากฟากตรงข้ามกับ คสช. ชนะถล่มทลาย จะมีพรรคอุดมการณ์ชัดเจนเข้าไปมีบทบาทในรัฐสภา

แต่หากเสียงไม่มากพอจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างน้อยส่งสัญญาณให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในภาคประชาชนไปไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศสาตร์ จุฬาฯ เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยความหวังและความรู้สึกร่วม เมื่อผลเลือกตั้งออกมา หากเกิดสึนามิทางการเมือง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่อย่างน้อยพลังคนรุ่นใหม่ส่งสัญญาณว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในอนาคตและสังคมไทย จะดีขึ้น

“เลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ได้ระบอบประชาธิปไตย แต่จะเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลง ที่ป้องกันไม่ให้ระบอบอำนาจนิยมเพาะเมล็ดพันธุ์หยั่งรากไว้ได้” รศ.สิริพรรณ กล่าวในที่สุด

จากเหตุการณ์ต่างๆ ตลอด 5 ปี มาถึงวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 51 ล้านคนทั่วประเทศ ควรออกมาใช้สิทธิใช้เสียงให้ถล่มทลาย

ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ กำหนดอนาคตประเทศด้วยตัวเอง

ให้ได้คำตอบเด็ดขาดที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถโต้แย้ง หรือนำไปบิดเบือนใดๆ ได้

อ่าน : ‘ธนาธร’ ชวนฝ่ายประชาธิปไตย จบเกม รัฐบาลสืบทอดอำนาจ!! หยุด 250 ส.ว.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน