บทบาท คสช.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

บทบาท คสช. – ความห่วงใยของ คสช.- ในเรื่องการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลว่า อาจจะนำไปสู่บรรยากาศของความวุ่นวายนั้น ดูจะเป็นความกังวลที่เกินขนาดและเกินเส้นของความเหมาะควรอยู่สักหน่อย

ประการหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญที่ คสช. อำนวยการร่างขึ้นมาเอง ออกแบบให้การเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งของสภา การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองผสมหลายพรรคย่อมเป็นเรื่องปกติ

ประการหนึ่ง หากกังวลในเรื่องการจับขั้วทางการเมืองของซีกใดซีกหนึ่ง คสช. ก็พึงแสดงความกังวลเช่นเดียวกันเมื่อเกิดเหตุการณ์เดียวกันในฝั่งตรงข้ามด้วย

โดยเฉพาะเมื่อฝั่งตรงข้ามนั้นเป็นพวกหรือเนื้อเดียวกันกับตนเอง

หากมีสิ่งใดที่ คสช. ควรจะกังวลมากกว่า ว่าอาจจะทำให้เกิดบรรยากาศอึมครึมขึ้นในสังคมไทย นั่นก็คือความล่าช้าหรือกระบวนการที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าผลการเลือกตั้งไม่สุจริตโปร่งใส

ในฐานะองค์กรพิเศษที่มีหน้าที่ดูแลงานด้านความมั่นคง คสช. สามารถสอบถามหรือเร่งรัดให้ กกต. ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม เพิ่มประสิทธิภาพและความกระฉับกระเฉงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้

ความไม่เชื่อมั่นในความสุจริตของการเลือกตั้งต่างหาก ที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย

นี่คือกรณีที่ คสช. ต้องจับประเด็นให้ถูกต้อง

อย่าลืมว่า คสช. เกิดขึ้นและเข้ามามีอำนาจในสังคมไทยด้วย “สถานการณ์ที่ไม่ปกติ” ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้วร่วม 5 ปี

การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นปกติ” ในระดับหนึ่งของสังคม

เมื่อสังคมเป็นปกติ ภาระหน้าที่ของ คสช. ย่อมยุติหรือหมดลงไปโดยปริยาย

แต่ถ้ายังคิดหรือเชื่ออยู่ว่า จนกระทั่งถึงปัจจุบันแม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว สถานการณ์ในสังคมไทยก็ยังไม่กลับเข้าสู่ความเป็นปกติ

คสช. ก็พึงต้องกลับมาสำรวจทบทวนตนเองอีกเช่นกัน ว่า 5 ปีที่ผ่านมามีความสามารถ และประสิทธิภาพในการสร้างความปกติจริงหรือไม่

และสมควรจะมีบทบาทอยู่ต่อไปหรือไม่

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน