‘ความยากลำบาก’ แรงผลักดัน ที่สำคัญกว่า ‘ไอคิว’

เมื่อไม่นานมานี้ในเกาหลีใต้มีการวัดระดับการสอบเข้าของเด็กมัธยมปลาย พร้อมกับทำวิจัยเพื่อศึกษาว่า ‘ไอคิว’ โดยเฉลี่ยของเด็กที่เรียน ‘มหาวิทยาลัยโซล’ อยู่ประมาณเท่าไร ส่วนตัวผมคิดว่า ไอคิวของเด็กเหล่านั้นน่าจะสูงมาก เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยดีที่สุดของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของเด็ก “หัวกะทิ” จากทั่วทุกสารทิศ

จากการศึกษาวิจัยไอคิวเฉลี่ยของนักศึกษามหาวิทยาลัยโซลกลับอยู่ที่ 108 (ไอคิวเฉลี่ยของคนเกาหลีจะอยู่ที่ประมาณ 107 ) อย่างไรก็ตามตัวเลขสถิตินี้แสดงให้เห็นว่า มีนักศึกษาหลายคนที่ไอคิวไม่ถึง 108 ด้วยซ้ำ

ผู้เชี่ยวชาญสรุปผลลัพธ์ออกมาว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้คนสามารถเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโซลได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหัวดี เรียนเก่ง หรือชอบการเรียน แต่มาจากพื้นฐานของจิตใจที่มี “ความรู้สึกหดหู่ท้อแท้”

โดยปกติหากมีฐานะทางบ้านยากจน ก็จะเกิดความรู้สึกท้อแท้ และหดหู่ทรมาน บางคนตัวเตี้ยก็จะรู้สึกเป็นปมด้อย บางคนพ่อแม่หย่าร้าง ก็จะรู้สึกอาย เมื่อคนเราพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งในข้อเหล่านี้ คงทำให้รู้สึกไม่ดี และนำเราไปสู่ความคิดทางลบมากกว่าทางบวกใช่ไหมครับ

ตรงกันข้าม ต่อไปผมอยากจะอธิบายให้เข้าใจถึงปัจจัย ที่ทำให้นักเรียนหลายคนไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยโซลได้นะครับ

เหตุผลแรกคือ การทำตามใจตัวเอง อยากจะสนุกไปตามความต้องการ นึกอยากทำอะไรก็ติดตามความคิดไป นึกอยากเที่ยวก็เที่ยว อยากเล่นเกมก็เล่นเกม หรืออยากนอนก็นอน ใช้ชีวิตแบบนี้โดยไม่คิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่สงสัยว่า หากทำต่อไป วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

เหตุผลที่สองคือ การหลีกหนีความยากลำบาก สำหรับมนุษย์ เมื่อเติบโตขึ้นปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้หนักใจ เป็นเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่บางคนเมื่อเผชิญสิ่งเหล่านี้ กลับหันหลังและหนีไป หลายครั้งจึงใช้ชีวิตแบบผ่านๆ ไม่อยากคิดลึกๆ หรืออยากจะลองเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับมาถึงเด็กที่มีความหดหู่ท้อแท้ หรือมีข้อด้อยในชีวิตกันครับ ลองคิดดูว่าหากพวกเขาเลือกทางที่จะทำให้ตัวเองสุขสบายแบบครั้งคราว หรือหลีกหนีปัญหาความยากลำบาก ชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไรครับ?

เมื่อเงื่อนไขในชีวิตไม่มีอะไรดีเหมือนคนอื่น ทำให้เป็นคนคิดหลายชั้น และสามารถควบคุมตัวเองหรือหักห้ามใจได้ดีกว่า หากมีความคิดว่าอยากเที่ยวเล่น หรือเล่นเกม เด็กเหล่านี้ก็จะไตร่ตรองอีกครั้งว่า ถ้ายังไม่ตั้งใจเรียนอนาคตก็จะมืดมนกว่านี้ หรือครอบครัวสภาพแวดล้อมไม่ดี ถ้าไม่เรียนก็จะยิ่งโชคร้าย ถ้าตั้งใจเรียนก็จะมีโอกาสหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ได้

ไม่ใช่ไอคิวที่ทำให้พวกเขาสอบติดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ตัวแปรหลักคือ ความยากลำบากในชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญได้กล่อมเกลาให้มีจิตใจเข้มแข็ง กลายเป็นแรงผลักให้เขาสามารถไปยืนอยู่ในจุดที่ดีกว่าคนอื่นได้


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน