วิพากษ์ที่มาส.ว.-จับตาหนุนสืบอำนาจ

รายงานพิเศษ

วิพากษ์ที่มาส.ว. – หมายเหตุ – จากกรณีมีรัฐมนตรี 15 คนและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 60คน ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการดึงอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสายเข้าร่วมเป็นส.ว.นั้น

นักวิชาการและอดีตประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความเห็น ดังนี้

ยุทธพร อิสรชัย

อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การแต่งตั้งส.ว. ที่ดึงแม่น้ำ 5 สาย รวมถึงรัฐมนตรีเข้ามานั้น ในแง่การแต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิด กับคสช. คงหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้มีความสำคัญอย่างมากว่าส.ว.จะทำหน้าที่ลบคำ วิจารณ์เหล่านี้ได้หรือไม่

หน้าที่แรกคือ การโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับส.ส. ตรงนี้คือบทพิสูจน์ว่าบรรดาส.ว.จะพ้นจากข้อวิจารณ์นี้ได้หรือไม่

ถ้าส.ว.ไม่พิสูจน์ตัวเอง ก็จะถูกครหาในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองที่อยู่มาตลอด 5 ปี อีกทั้งถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการวินิจฉัยว่าที่มาของส.ว.มีปัญหาด้วย ข้อวิจารณ์จะ ยิ่งมากขึ้น จึงถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญมากในเรื่องความชอบธรรม

สำหรับการเลือกนายกฯเป็นเรื่องยากมาก เพราะ ส.ว.ถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระ การทำหน้าที่อย่างอื่นก็จะถูกตั้งคำถามไปด้วย เพราะต้องยอมรับว่าการให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ค่อนข้างกว้าง ส.ว. สามารถอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติก็ได้ ถ้าจุดตั้งต้นมีปัญหา ในระยะยาวก็จะถูกจับตามอง

ดังนั้น เชื่อว่าการทำหน้าที่ของส.ว.จะมีแรงกดดันอย่างมาก ไม่เหมือนสมัยดำรงตำแหน่ง สนช. เพราะในอดีตหลายคนยังไม่เคยผ่านงานการเมือง แต่วันนี้การทำหน้าที่ไม่เหมือนเดิม เพราะต้องทำงานร่วมกับส.ส.

ผมเชื่อว่าการถูกตรวจสอบจะ เข้มข้นขึ้น ซึ่งอำนาจหน้าที่ของส.ว.ชุดที่จะมีขึ้น มีทั้งการตรวจสอบ และ ถ่วงดุล สามารถควบคุมกำกับการบริหารได้ พอเป็นแบบนี้แต่ที่มาไม่เชื่อมโยงกับประชาชนจึงเป็นปัญหา เพราะ ส.ว.ต้องเป็นกลางทางการเมือง

ส่วนข้อวิจารณ์ต่างๆ จากสังคม ส.ว.ต้องยอมรับ และปฏิบัติให้เกิดความเชื่อมั่น

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ไม่ใช่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะทุกคนคาดว่าจะออกมาอย่างนี้ตั้งแต่ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งชุดกรรมาธิการและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเจตนาที่จะให้มีการสืบต่ออำนาจ จึงได้เขียนให้ส.ว.ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ที่สำคัญ ยังเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ให้ส.ว.ได้เลือกนายกฯอีก และการให้ส.ว.มาจากคสช. เห็นเจตนาชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและทุกคนก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

อยากให้ข้อคิดไว้ว่า วันนี้เสถียรภาพความเป็นรัฐบาลที่มั่นคงอย่างแท้จริงไม่ได้อยู่ที่เสียง ยกมือในสภา แต่อยู่ที่ตัวนายกฯและคณะรัฐมนตรี ในการบริหารงานให้เป็นไปตามแนวทางของโลก สอดคล้องสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาความยากจนที่ต้องไม่ ปฏิเสธตัวเองว่าคนทุกหย่อมหญ้ากำลังเดือดร้อนเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ต่อให้สืบทอดอำนาจ มีเสียงรับรอง มีเสียงเพราะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าไม่สามารถนำพาประเทศไปให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตชาติเรื่องเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำให้ประชาชนหันหน้ากลับมาหากัน เป็นดินแดนแห่งสันติสุขได้ ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้อยู่ได้นานแค่ไหน

ฝากส.ว.ด้วยว่าชาติบ้านเมืองต้องมาก่อน หากจำต้องแทนบุญคุณขอให้ตอบแทนบุญคุณชาติบ้านเมืองเสียก่อน จึงตอบแทนบุญคุณของคนที่แต่งตั้งตัวเองเข้ามา บุญคุณของสังคมและบุญคุณของแผ่นดินจะต้องมาก่อน

ในอดีตผู้นำจีนพูดอยู่เสมอว่า ผมช่วยเหลือคุณ ผมทำประโยชน์ให้กับคุณ แต่เวลาที่คุณจะตอบแทนผม ให้คุณคิดถึงชาติบ้านเมืองก่อน คุณตอบแทนบุญคุณชาติบ้านเมืองก็เหมือนกับตอบแทนผม อย่าทำอะไรที่เป็นการตอบแทนบุญคุณส่วนตัว แต่ต้องทำอะไรที่เป็นการตอบแทนบุญคุณส่วนรวม จึงขอให้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้

วันนี้ทุกคนคาดหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ของสังคม ประเทศชาติ ถ้าเข้าไปแล้วยังอยู่ในอีหรอบเดิม บ้านเมืองย่ำเท้าอยู่กับที่หรือถอยหลัง ความขัดแย้งปะทุรุนแรงมากขึ้น แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้อย่างนี้คงเป็นตราบาปของสังคม

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของประธานและรอง ประธานวุฒิสภานั้น ผมไม่คาดหวังเพราะไม่ได้ยึดโยงจากประชาชน แต่ที่ผมคาดหวังคือประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะพวกคุณมาจากประชาชน มาจากความหวังและมือของประชาชน อย่าทำให้มือของประชาชนเสียหาย ขอให้คิดถึงประชาชนด้วย

ส่วนเรื่องการโหวตเลือกนายกฯนั้นผมก็ไม่ได้ คาดหวังอะไรเพราะรู้ดีว่าก่อนที่คสช.จะแต่งตั้งส.ว.คงต้องมีการพูดคุยกัน แต่หลังจากนี้คุณต้องพิจารณาอย่างหนักกันแล้ว

ถือว่าบุญคุณคนคุณได้ชดใช้เขาไปแล้ว ต่อไปนี้บุญคุณชาติต้องคำนึงให้หนัก

อนุสรณ์ อุณโณ

คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

วิพากษ์ที่มาส.ว.-จับตาหนุนสืบอำนาจ : รายงานพิเศษ

ในแง่กระบวนการสรรหาส.ว. มีการปิดลับตั้งแต่ต้น ทั้งการเลือกส.ว. 10 กลุ่มวิชาชีพ ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศจำนวน 200 คนที่ส่งให้หัวหน้าคสช.คัดเหลือ 50 คน และการสรรหาส.ว.อีก 194 คน ซึ่งคสช.เป็นคนคัดเลือก แต่ไม่มีใครรู้ขั้นตอน รายชื่อผู้สมัคร ไม่รู้เกณฑ์การคัดเลือก

รู้เพียงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ถือว่าน่าละอายมากในระบอบประชาธิปไตย ส.ว.ที่มีอำนาจเลือกนายกฯไม่มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชนเลย

ในแง่ตัวบุคคล ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ปรากฏชื่อพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. นายกฯ และแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เพราะการกระทำเช่นนี้เคยปรากฏ มาแล้ว หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ก็แต่งตั้งน้องชาย เป็นสนช. แล้วมาโหวตพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ยังใช้วิธีการเดิม เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ

กรณีดังกล่าวเป็นหลักประกันให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจนแล้วว่า จะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อย่างน้อย 1 เสียง จากน้องชายของตัวเอง

ทั้งหมดจะพบว่า ความชอบธรรมของส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คน ไม่มีตั้งแต่ต้น หลักนิติรัฐ นิติธรรม ถูกทำลายโดยการใช้อำนาจบาตรใหญ่จากกองทัพที่ถืออาวุธ ปืน รถถัง พาตัวเองเข้าสู่อำนาจเมื่ออยู่ในอำนาจแล้วสร้างกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป

สำหรับ 250 ส.ว.แต่งตั้ง มีเพียงวิธีเดียวที่จะกู้ศักดิ์ศรีของตัวเอง เพื่อให้สามารถยืนมองกระจกได้โดยไม่ต้องมีความละอายคือ ในการลงมติเลือกนายกฯ ร่วมกับส.ส. จะต้องเดินตามมติของ ผู้แทนราษฎร ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง อย่าตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งพวกพ้องเข้ามา มิเช่นนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองเกิดความโกลาหล

การแห่ลาออกของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อโยกมาเป็นส.ว.แต่งตั้ง เกลี่ยที่ในครม.รอรับการจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้น โฉ่งฉ่างเป็นอย่างยิ่ง ประเทศนี้ผู้คนกำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจน กฎเกณฑ์กติกาไม่เคยมีความหมาย หากทำอะไรแล้วฝ่ายตนเองได้เปรียบ การทักท้วงท้วงติง จะไม่มีทางเกิดขึ้น เหมือนที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่ายหนึ่ง

กระบวนการสืบทอดอำนาจ ภายใต้ความเชื่อและจินตนาการ ที่ไม่สอดคล้องกับโลกร่วมสมัยก็ไม่แตกต่างอะไรจากการรัฐประหารอีก ไม่ว่ากระบวนการจะอุจาดแค่ไหน อย่างไรก็รักลุงตู่

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า สังคมนี้เกินเยียวยา จะหวังให้คนรุ่นก่อนหน้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยคือสิ่งที่เป็นไม่ ได้ แม้จะเกินเยียวยา แต่จะหมดหวังไม่ได้ ซึ่งความหวังนี้อยู่ที่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความ ขัดแย้ง

สิ่งที่คนรุ่นใหม่จะทำได้ ก็ต้องรณรงค์อย่างเข้มแข็ง เตรียมพร้อมทางความคิดให้กับพวกเขาที่จะเติบโตขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมนี้

สามารถ แก้วมีชัย

อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ปกติแล้วถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักสากล ใช้กันมาแต่เดิม หรือถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ยกเลิกไปนั้น บุคคลที่จะมาเป็นสว.ต้องพ้นหรือที่เรียกว่าเว้นวรรคจากการเป็นสมาชิก ส.ว.5 ปี

รวมทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องเว้นวรรค 5 ปีเช่นเดียวกัน ยกเว้นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.ให้เว้นวรรคเพียง 2 ปี

แต่วันนี้เป็นไอ้นี่ก็กระโดดไปเป็นไอ้นั่นได้ ยกเว้นให้กันหมด

ที่สำคัญ ส.ว.ครั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยคสช.ทั้งหมด เขียนกติกากันมาแบบนี้สืบทอดอำนาจชัดเจน โดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งย่อมให้การเกื้อกูล สนับสนุนผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา เหมือนที่เขาพูดกันว่าผลัดกันเกาหลังกันไปมา

ที่ผ่านมาการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเว้น วรรคทางการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดระบบอุปถัมภ์ หรือสร้างบารมีจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ครั้งนี้ทำเหมือนตัวดูดเลือดกระโดดกันเป็นว่าเล่น

ยิ่งคราวนี้เขียนกติกาให้อำนาจ ส.ว.เยอะกว่าเดิมมาก เช่น การพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งให้อำนาจ ส.ว.ในการติดตามและเฝ้าดูรัฐบาลว่าทำตามแผนปฏิรูปประเทศหรือไม่ แถมให้รัฐบาลต้องรายงานผลทุกๆ 3 เดือน แบบนี้รัฐบาลแทบไม่ต้องทำงานอะไรเลย และถ้ารัฐบาลไม่ทำตามแผนปฏิรูปก็เดือดร้อนอีก

ดังนั้น ส.ว.ยุคนี้จึงมาง่าย แถมอำนาจยังมาก หากได้นายกฯ ที่ตั้งส.ว.เข้ามา รัฐบาลก็อาจจะทำงานราบรื่น เพราะมีส.ว.ค้ำบัลลังก์ แต่ถ้าเป็นนายกฯคนที่ ไม่ได้ตั้งส.ว. โอกาสการทำงานของรัฐบาลคงยากลำบากมากขึ้น ซึ่งน่าห่วงว่าเมื่อกติกาเขียนกันมาแบบนี้ ประเทศจะเดินกันอย่างไร

และถ้ามีกฎหมายเข้าสภา และไม่ผ่านการพิจารณาของส.ส. แต่อ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป รัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจ ส.ว.ร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาได้อีก ประเทศคงเดินกันไปแบบ ถูลู่ถูกัง

อย่างไรก็ตาม หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผล ส.ส. และเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยเฉพาะในช่วงที่แต่ละสภาเลือกประธานกัน ถึงตอนนั้นทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจ คงประลองกำลังกันน่าดู

ยิ่งเป็นการลงคะแนนลับ งูเห่าคงเยอะไปหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน