ชินความรุนแรง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ชินความรุนแรง : บทบรรณาธิการ – ช่วงเวลาแห่งการรับน้องใหม่ของสถาบัน การศึกษามาพร้อมกับข่าวใช้ความรุนแรงอีกวาระหนึ่ง ในที่นี้รวมถึงกรณีมหาวิทยาลัยที่จังหวัดสุพรรณบุรี รุ่นน้องถูกกลุ่มรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนเนื้อตัวเขียวช้ำทั้งแขนและขา รวมถึงข่มขู่คุกคาม

กรณีนักเรียน ม.6 ทำร้ายร่างกายนักร้อง ม.3 อาการสาหัส 3 คน และในจำนวนนี้รายหนึ่งอาการวิกฤตถึงขั้นกระทบการทำงานของหัวใจและสมอง

กรณีกองทัพอากาศตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีพลทหารเกณฑ์อายุ 21 ปีเข้าแจ้งความว่าถูกทำร้ายร่างกายเกินกว่าเหตุ บาดเจ็บจนไม่สามารถเดินหรือนั่งได้เหมือนคนปกติ

ทั้งหมดนี้กำลังบอกสถานการณ์ที่น่าวิตกแก่สังคมไทย

เหตุการณ์รุ่นพี่ทำร้ายรุ่นน้อง มีลักษณะคล้ายกันตรงที่เป็นการรวมกลุ่มข่มเหงรังแกผู้มีสถานะด้อยกว่า

กระทำโดยไร้จิตสำนึกด้านการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียมทางสังคม

อีกทั้งยังยึดระบบโซตัสที่ยกข้ออ้างเรื่องความสามัคคีในหมู่คณะ และการเคารพผู้อาวุโสที่ได้เข้าศึกษาก่อน เพื่อสร้างอำนาจที่ไม่มีอยู่จริงเป็นประโยชน์ในการข่มขู่คุกคามผู้อื่น

ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่นิยมความรุนแรง ด้วยเห็นว่าเมื่อใช้ความรุนแรงแล้วจะยกสถานะตนเองขึ้นเหนือผู้อื่น

อาจมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่ส่งเสริมค่านิยมนี้ ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

วันนี้การยุยงความรุนแรงทางสังคมกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ง่าย เช่น กรณีนักกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการรัฐประหารหลายคนถูก ทำร้าย

บางคนถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น จ่านิว นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายเอกชัย หงส์กังวาน ผ่านมาหลายเหตุการณ์ยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้

ส่วนนักต่อสู้จากกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น บิลลี่ นายพอละจี รักจงเจริญ แห่งชุมชนกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว จนเวลาผ่านมา 5 ปีแล้วยังไม่พบร่องรอย

ขณะที่ดารานักร้องคนดังแสดงความเห็นสนับสนุนการดักตบสมาชิกพรรคการเมืองหญิง ก่อนจะขอโทษว่าไม่ทันคิด เพื่อลดทอนกระแสสังคม

ความไม่ทันคิดหลายๆ ครั้งและหลายๆ กรณีแบบนี้ กำลังเป็นตัวกระตุ้นให้ความรุนแรงกลายเป็นความเคยชิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน