FootNote นโยบาย แก้ไข รัฐธรรมนูญ กับเหตุผล ของ ประชาธิปัตย์

แม้จะมี นายชวน หลีกภัย ดำรงอยู่ในตำแหน่งประธานรัฐสภา แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องเล่น “ท่ายาก”ในทางการเมืองอีกครั้งในการประชุมสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาล

ในเมื่อรายละเอียดของนโยบายรัฐบาลระบุถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้น้อยมาก

แม้จะกำหนดอยู่ในส่วนของ “พัฒนาการเมือง”ก็ตาม

ทั้งๆที่ นี่คือเงื่อนไขอันสำคัญเป็นอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์ในการที่จะขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ความหวังที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงริบหรี่อย่างยิ่งหากมองจากความเป็นจริง

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร

ในสถานการณ์ก่อนการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ได้ผ่าน “ท่ายาก” ทางการเมืองมาแล้วโดยการลงมติเข้าร่วมรัฐบาล

เห็นได้จาก “กายกรรม”ทางการเมือง 2 กระบวนท่า

กระบวนท่า 1 คือ การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เท่ากับเปิดช่องทางสะดวกให้กับพรรค

กระบวนท่า 1 คือ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่โดยแทนที่จะเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กลับเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์เลือกเล่น “ท่ายาก”มากกว่าจะเล่น “ท่าง่าย”

แต่ในที่สุด มติพรรคประชาธิปัตย์ก็โน้มเอียงไปในทิศทางดังที่เสียงส่วนใหญ่ในพรรคต้องการ นั่นก็คือ เลือกที่จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แทนที่จะเป็นฝ่ายค้าน

อันเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กระทรวงพาณิชย์มาครอบครองนอกเหนือจากประธานรัฐสภา

ไม่ว่าจะเป็นมติพรรคเรื่องเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เคยเน้นว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สังคมคาดหมายและรับรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดอย่างไร

แต่สังคมก็อยาก “ฟัง”ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะ “อ้าง”อย่างไร

เหตุผลอันดำรงอยู่ภายใน” ข้ออ้าง”ของพรรคประชาธิปัตย์ที่สังคมอยากรู้ว่าอาการ “กลับคำ”จะวางอยู่บนฐานคติเช่นใด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน