ปรับทัศนคติ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แม้จะเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ ไม่มีมาตรา 44 แล้ว แต่คำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมบุคคลมาปรับทัศนคติไม่ได้ถูกยกเลิก

ประเด็นนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่า “ทัศนคติ” เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพของบุคคล และควรแสดงออกได้อย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตย

รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ระบุว่า การเรียกปรับทัศนคติภายใต้รัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การควบคุมตัว หากเป็นอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และดีกว่าประกาศกฎอัยการศึก

ประเด็นที่น่ากังขาคือมาตรฐานการพิจารณา เนื่องจากการเรียกปรับทัศนคติที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนว่า เรื่องใดควรเรียก หรือเรื่องใดที่ควรปรับ เรื่องใดกระทบหรือไม่ได้กระทบต่อความสงบเรียบร้อย

ปัจจุบัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เป็นฝ่ายที่จะใช้อำนาจการปรับทัศนคติ

การประเมินประเด็นที่ต้องเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ จึงเป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างทหารกับพลเรือน

ถึงแม้กอ.รมน. ไม่ใช่หน่วยงานทหาร และสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. แต่มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผอ.รมน. และเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการ กอ.รมน.

ทั้งหมดมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 7

อํานาจตามกฎหมายของ กอ.รมน.ดังกล่าว หมายถึง ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ผอ.รมน.ยังมีอำนาจในการทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดี อันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. โดยกระทำในนามของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ จะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทนก็ได้

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ บุคคลจากกองทัพ ต้องคำนึงถึงความมั่นคงอย่างเข้มข้น ขณะที่ภาคการเมืองที่ต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างสันติเป็นหลัก

การปรับทัศนคติตามแบบเดิมที่เคยทำจะทำให้สองแนวทางนี้ขัดแย้งกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน